วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม พ.ศ. 2566

คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

คำพิพากษาฎีกาที่ 2765/2565

                กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ข้อ 3.1.7 มีข้อความว่า กรณีผู้ประสบภัยเป็นผู้ขับขี่รถคันที่เอาประกันภัยและเป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุ หรือไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ขับขี่ที่เป็นผู้ประสบภัย บริษัทจะรับผิดจ่ายค่าสินไหมทดแทนไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้นเท่านั้น 
                ดังนั้น การที่ บริษัท ก.จำเลยจะอ้างข้อสัญญาดังกล่าวเพื่อจำกัดความรับผิดของตนเอง ไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้น จึงมีได้เพียงสองกรณีคือ 
                (1) ผู้ประสบภัยซึ่งเป็นผู้ขับขี่เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิด หรือ 
                (2) ไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ขับขี่ในอุบัติเหตุนั้น 
                เมื่อพิจารณาคู่มือตีความกรมธรรม์คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ หน้า 8 ข้อ 3.3 ใน 2) ได้ยกตัวอย่างอธิบายความหมายของข้อความที่ว่า “ไม่มีผู้ใดรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่นั้น เช่น ถูกรถอื่นชน เป็นเหตุให้ผู้ประสบภัยที่เป็นผู้ขับขี่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิต แต่รถที่มาชนนั้นหลบหนีไป ไม่สามารถติดตาม หรือทราบได้ว่าผู้ใดเป็นผู้ที่จะต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย” ทำให้เห็นว่า ข้อความดังกล่าวมุ่งเฉพาะกรณีไม่ทราบตัวผู้ที่ต้องรับผิด 
                แต่คดีนี้ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า ท.ผู้ตายและเป็นผู้ประสบภัย ซึ่งขับรถจักรยานยนต์คันที่ บริษัท ก.จำเลยรับประกันภัย มิได้เป็นฝ่ายที่ต้องรับผิดต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และมีผู้ที่ต้องรับผิดตามกฎหมายต่อผู้ตาย คือ น. ผู้ขับรถจักรยานยนต์ที่เฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ของ ท.ผู้ตาย เพียงแต่ น.ถึงแก่ความตายไปก่อนถูกดำเนินคดีอาญา หาใช่เป็นกรณีไม่มีผู้ใดต้องรับผิดต่อผู้ประสบภัยดังที่จำเลยอ้างไม่ จึงไม่ใช่กรณีที่จำเลยจะรับผิดเพียงไม่เกินค่าเสียหายเบื้องต้น ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 3.1.7

วันศุกร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

สารบัญ การสอบสวนคดีจราจรทางบก

บทบัญญัติของกฎหมาย
                -  พระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้อง
                -  กฎกระทรวงที่เกี่ยวข้อง
                -  ข้อกำหนด ระเบียบและคำสั่งที่เกี่ยวข้อง

การปฏิบัติเมื่ออยู่ในรถ
                -  ม.๔๔ กับการบังคับใช้เข็มขัดนิรภัย
                -  ถือโทรศัพท์ขณะที่รถติดไฟแดง

การขับรถในทาง
                -  แข่งรถในทางหรือขับรถเมาสุราอาจถูกยึดรถ
                -  รถบรรทุกขนาดใหญ่ขับช่องขวาของทางเดินรถ
                -  รถฉุกเฉิน
อุบัติเหตุ
                -  ชนแล้วหนีไม่ช่วยเหลือจนผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส
                -  จอดรถข้างทางในที่มืด
                -  ก่อสร้างถนนไม่ติดตั้งสัญญาณไฟ
                -  รถออกจากข้างทางมาชนกัน
                -  คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ

หลักวินิจฉัยในการสอบสวน
                -  รัฐเป็นผู้เสียหายในคดีจราจรทางบก
                -  หลักการวินิจฉัยคดีจราจรเบื้องต้น
                -  ข้อสันนิษฐานขับรถในขณะเมาสุรา (ถ้าไม่ยอมให้ทดสอบ)
                -  ปริมาณแอลกอฮอล์กับความประมาท
                -  วิธีทำแผนที่แสดงสัญญาณไฟจราจร
                -  ค่าเสียหายกรณีต่างฝ่ายต่างประมาท
                -  การเปรียบเทียบปรับที่ไม่ชอบ
                -  ริบรถที่ขับโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยผู้อื่น

ใบสั่งและการชำระค่าปรับ
                -  จับผิดด้วยกล้อง ให้ส่งใบสั่งทางไปรษณีย์
                -  การชำระค่าปรับตามใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจร

การแก้ไขปัญหาจราจร
                -  การแก้ไขปัญหาจราจรติดขัด
                -  โปรดข้ามถนนตรงทางข้าม

วันจันทร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2560

การชำระค่าปรับตามใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจร

เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
(โดยย่อ)
              ข้อ ๓ ให้ยกเลิกความในมาตรา ๑๔๑ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

              “มาตรา ๑๔๑/๑  ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถซึ่งได้รับใบสั่งไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๔๑ ให้พนักงานเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก มีหน้าที่และอำนาจ ดังต่อไปนี้
                (๑) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งตั้งแต่สารวัตรขึ้นไป มีหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่งและจำนวนค่าปรับที่ค้างชำระ ให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถทราบ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ครบกำหนดชำระค่าปรับตามที่ระบุในใบสั่ง และให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถทำการชำระค่าปรับที่ค้างชำระด้วยวิธีการอย่างใดอย่างหนึ่งตามมาตรา ๑๔๑ ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง
                การแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้ทำเป็นหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับให้ผู้ขับขี่ หรือเจ้าของรถ แล้วแต่กรณี ณ ภูมิลำเนาของผู้นั้น ทั้งนี้ ตามแบบที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด และให้ถือว่าผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถได้รับแจ้งเมื่อพ้นกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่ง
                (๒) ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถคันใดไม่ชำระค่าปรับตาม (๑) ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
                       (ก) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งจำนวนค่าปรับที่ค้างชำระพร้อมหลักฐานตาม (๑) ไปยังนายทะเบียน และให้นายทะเบียนตรวจสอบข้อมูลและแจ้งให้ผู้มาติดต่อขอชำระภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้นทราบ เพื่อไปชำระค่าปรับที่ค้างชำระภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง ถ้าผู้มาติดต่อขอชำระภาษีประจำปีเป็นเพียงตัวแทนเจ้าของรถ ให้ผู้มาติดต่อแจ้งให้เจ้าของรถทราบเพื่อไปชำระค่าปรับภายในระยะเวลาดังกล่าว ในการนี้ ให้นายทะเบียนรับชำระภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้นไว้โดยออกหลักฐานชั่วคราวแทนการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีให้เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถแทนหลักฐานชั่วคราวตามวรรคหนึ่งให้ใช้แทนเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีโดยให้มีอายุสามสิบวันนับแต่วันที่นายทะเบียนได้ออกให้
                      (ข) ในกรณีที่เจ้าของรถได้ชำระค่าปรับที่ค้างชำระครบถ้วนภายในระยะเวลาตามที่กำหนดใน (ก) ให้เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถนำหลักฐานแสดงการชำระค่าปรับที่ได้รับจากพนักงานเจ้าหน้าที่มาแสดงต่อนายทะเบียนเพื่อให้ออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้น
                      (ค) ในกรณีที่เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถที่ได้รับหนังสือแจ้งตาม (ก) ประสงค์จะชำระค่าปรับในวันที่มาติดต่อขอชำระภาษีประจำปี ให้นายทะเบียนมีอำนาจรับชำระค่าปรับตามจำนวนที่ค้างชำระแทนได้ โดยให้นายทะเบียนรับชำระภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้นและออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีให้เจ้าของรถหรือตัวแทนเจ้าของรถ
                      (ง) ในกรณีที่เจ้าของรถไม่ชำระค่าปรับที่ค้างชำระ หรือชำระไม่ครบถ้วนภายในระยะเวลาที่กำหนดใน (ก) ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งนายทะเบียนให้งดการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้น และแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
                           ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถผู้ใดเห็นว่า ตนมิได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถนั้น ให้ทำหนังสือโต้แย้งข้อกล่าวหานั้นภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนตาม (ก) ส่งไปยังสถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่งหรือสถานที่ที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ การทำหนังสือโต้แย้งให้ใช้วิธีส่งทางไปรษณีย์ตอบรับหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะกำหนดวิธีการอื่นใดด้วยก็ได้
                           เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานจราจรได้รับหนังสือโต้แย้งตามวรรคสอง หากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือเจ้าพนักงานจราจรยังคงยืนยันและเห็นสมควรดำเนินคดีต่อผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถผู้นั้น ให้ส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการฟ้องต่อศาลต่อไป แล้วแจ้งผลให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถทราบ
                          เมื่อได้มีการชำระค่าปรับครบถ้วนถูกต้องแล้ว ให้คดีเป็นอันเลิกกัน และในกรณีที่มีการเรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้ ให้ผู้ขับขี่นำหลักฐานการชำระค่าปรับไปขอรับใบอนุญาตขับขี่คืนจากพนักงานเจ้าหน้าที่ผู้เรียกเก็บ ทั้งนี้ ในระหว่างที่ยังไม่ได้รับใบอนุญาตขับขี่คืน ให้ถือว่าหลักฐานแสดงการชำระค่าปรับเป็นใบแทนใบอนุญาตขับขี่มีกำหนดสิบวันนับแต่วันที่ชำระค่าปรับ
                          การรับชำระและการนำส่งเงินค่าปรับ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบกกำหนด
                          เงินที่ได้รับตามวรรคหนึ่ง (๒) (ก) ให้อธิบดีกรมการขนส่งทางบกหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายหักไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในอัตราร้อยละห้าของจำนวนเงินที่ได้รับโดยให้นำไปใช้จ่ายได้เช่นเดียวกับเงินงบประมาณตามระเบียบที่อธิบดีกรมการขนส่งทางบกกำหนดส่วนเงินที่เหลือให้นำส่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
                         การดำเนินการใด ๆ ของพนักงานเจ้าหน้าที่และนายทะเบียนตามมาตรานี้ สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการอื่นใดตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติและกรมการขนส่งทางบกกำหนด”
                ข้อ ๔  บทบัญญัติในมาตรา ๑๔๑/๑ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งนี้ มิให้ใช้บังคับกับใบสั่งที่เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ออกให้ก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ โดยให้นำบทบัญญัติในมาตรา ๑๔๑ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๓๕ ที่ใช้บังคับอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับ มาใช้บังคับกับใบสั่งดังกล่าว

บทบัญญัติเดิมที่ถูกยกเลิก 
                "มาตรา ๑๔๑ ทวิ  ในกรณีที่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถซึ่งได้รับใบสั่งไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๑๔๑ ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดังต่อไปนี้
                (๑) ในกรณีที่ทราบที่อยู่ของผู้ขับขี่หรือที่อยู่ของเจ้าของรถ ให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถให้มารายงานตัวที่พนักงานสอบสวนในกรณีดังกล่าวนี้ ผู้ได้รับหมายเรียกต้องมารายงานตัวตามวัน เวลา และ ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในหมายเรียก และให้พนักงานสอบสวนดำเนินการเปรียบเทียบและว่ากล่าวตักเตือนผู้ได้รับหมายเรียกดังกล่าว
                (๒) ในกรณีที่ไม่อาจส่งหมายเรียกให้แก่ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถได้ ให้พนักงานสอบสวนแจ้งเป็นหนังสือไปยังนายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์และตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก เพื่อให้นายทะเบียนแจ้งให้ผู้มาติดต่อขอชำระภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้นไปรายงานตัวที่พนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ถ้าผู้มาติดต่อขอชำระภาษีประจำปีเป็นเพียงตัวแทนของเจ้าของรถ ให้ผู้มาติดต่อแจ้งให้เจ้าของรถทราบเพื่อไปรายงานตัวที่พนักงานสอบสวนตามหมายเรียก ในกรณีดังกล่าวนี้ ให้นายทะเบียนงดรับชำระภาษีประจำปี สำหรับรถคันนั้นไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่าได้มีการปฏิบัติตามหมายเรียกนั้นแล้ว
                      การงดรับชำระภาษีประจำปีไม่เป็นเหตุให้ผู้นั้นไม่ต้องชำระเงินเพิ่มตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์หรือกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก แล้วแต่กรณี"

*ข้อพิจารณา.-
              "มาตรา ๑๔๑  ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถซึ่งได้รับใบสั่งตามมาตรา ๑๔๐ อาจเลือก ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้
              (๑)  ชําระค่าปรับตามจํานวนที่ระบุไว้ในใบสั่งหรือตามจํานวนที่พนักงานสอบสวนแจ้งให้ทราบ ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่งหรือสถานที่ที่อธิบดีกําหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในวัน เวลา ที่ระบุไว้ในใบสั่ง
              (๒)  ชําระค่าปรับตามจํานวนที่ระบุไว้ในใบสั่งโดยการส่งธนาณัติ หรือการส่งตั๋ว แลกเงินของธนาคารโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียน สั่งจ่ายให้แก่อธิบดีพร้อมด้วยสําเนาใบสั่งไปยัง สถานที่ และภายในวัน เวลา ที่ระบุไว้ในใบสั่ง เมื่อผู้ได้รับใบสั่งได้ชําระค่าปรับครบถ้วนถูกต้อง แล้วให้คดีเป็นอันเลิกกัน และในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ได้เรียกเก็บใบอนุญาตขับขี่ไว้ให้เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานสอบสวนรีบจัดส่งใบอนุญาตขับขี่ที่เรียกเก็บไว้คืนให้แก่ผู้ได้รับใบสั่งโดยเร็ว และให้ถือว่าใบรับการส่งธนาณัติ หรือใบรับการส่งตั๋วแลกเงิน ประกอบกับใบสั่งเป็นใบแทนใบอนุญาตขับขี่ได้เป็นเวลาสิบวัน นับแต่วันที่ส่งธนาณัติ หรือตั๋วแลกเงินดังกล่าว วิธีการชําระค่าปรับโดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนและวิธีการส่งใบอนุญาตขับขี่คืนให้แก่ผู้ได้รับใบสั่งให้เป็นไปตามระเบียบที่อธิบดีกําหนด"
              จากบทกฎหมายข้างต้น เมื่อผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถได้รับใบสั่งแล้ว ต้องชำระค่าปรับ ณ สถานที่ที่ระบุไว้ในใบสั่งด้วยตนเอง หรือจะชำระโดยการส่งทางไปรษณีย์ก็ได้ แต่ถ้าหากผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถไม่ดำเนินการชำระค่าปรับดังกล่าวแล้ว
               แต่เดิมให้พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกให้มาชำระค่าปรับ ถ้าหากไม่อาจส่งหมายเรียกได้ ก็ให้แจ้งไปยังนายทะเบียน เพื่อให้ช่วยแจ้งผู้ที่มาชำระภาษีรถไปพบพนักงานสอบสวนและให้งดรับชำระภาษีประจำปีไว้ชั่วคราวจนกว่าจะมีการปฏิบัติตามหมายเรียก โดยไม่ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับระยะเวลาการปฏิบัติแต่ละขั้นตอนเอาไว้
               แต่กฎหมายแก้ไขใหม่ จึงกำหนดให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถที่ได้รับใบสั่งแล้ว แต่ไม่มาชำระค่าปรับตามกำหนดในใบสั่ง ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ระดับสารวัตรตำรวจขึ้นไปทำหนังสือส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ แจ้งให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถที่ได้รับใบสั่งมาชำระค่าปรับภายใน ๑๕ วัน
              ถ้าหากไม่มาชำระ พนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งจำนวนค่าปรับพร้อมหลักฐานไปยังนายทะเบียน เมื่อมีผู้มาขอชำระภาษีประจำปีให้นายทะเบียนรับชำระภาษีประจำปีโดยออกหลักฐานชั่วคราวแทน(ป้ายภาษีชั่วคราวมีอายุ ๓๐ วัน) แล้วให้นายทะเบียนตรวจสอบข้อมูลและแจ้งให้ผู้มาติดต่อไปชำระค่าปรับภายใน ๓๐ วัน
              ถ้าหากผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถเห็นว่าตนมิได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ให้ทำหนังสือโต้แย้งข้อกล่าวหานั้นภายใน ๑๕ วัน แต่ถ้าเจ้าพนักงานจราจรได้รับหนังสือโต้แย้งแล้ว ยังคงยืนยันและเห็นสมควรดำเนินคดี ให้ส่งเรื่องไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีต่อไป แต่ถ้าหากไม่มาชำระค่าปรับภายใน ๓๐ วัน เจ้าพนักงานจราจรแจ้งนายทะเบียนให้งดการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับจริง) และแจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินการคดีต่อไป แต่ถ้ามาชำระภายใน ๓๐ วัน (นายทะเบียนมีอำนาจรับชำระค่าปรับได้ด้วย) ให้นำหลักฐานการชำระค่าปรับมาแสดงต่อนายทะเบียน นายทะเบียนจะออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปี (ฉบับจริงให้)

ม.๔๔ กับการบังคับใช้เข็มขัดนิรภัย

เรื่อง มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก
(โดยย่อ)
               ข้อ ๒  ให้ยกเลิกความในวรรคสองของมาตรา ๑๒๓ แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๓๘ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
               “ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะขับขี่รถยนต์ และต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์ รัดร่างกายไว้กับที่นั่งด้วยเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสารรถยนต์ และคนโดยสารรถยนต์ดังกล่าว ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะโดยสารรถยนต์ด้วย”

               ซึ่งแต่เดิม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒  บัญญัติว่า
               "มาตรา ๑๒๓  ห้ามมิให้ผู้ขับขี่รถยนต์ยอมให้ผู้อื่นนั่งที่นั่งตอนหน้าแถวเดียวกับที่นั่งผู้ขับขี่รถยนต์เกินสองคน
               ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะขับขี่รถยนต์ และต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์ ซึ่งนั่งที่นั่งตอนหน้าแถวเดียวกับที่นั่งผู้ขับขี่รถยนต์ รัดร่างกายไว้กับที่นั่งด้วยเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสารรถยนต์ และคนโดยสารรถยนต์ดังกล่าวต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งในขณะโดยสารรถยนต์ด้วย
               ประเภทหรือชนิดของรถยนต์ ลักษณะและวิธีการใช้เข็มขัดนิรภัยตามวรรคสอง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา"

*ข้อพิจารณา.- แต่เดิมกฎหมายบังคับให้ผู้ขับขี่รถยนต์และคนโดยสารรถยนต์ซึ่งนั่งตอนหน้าแถวเดียวกับที่นั่งผู้ขับขี่รถยนต์เท่านั้น ที่ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่งขณะโดยสารรถยนต์ แต่ปัจจุบันกฎหมายบังคับใช้กับผู้ที่นั่งโดยสารรถยนต์ทุกคนในรถ ให้ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย ทั้งนี้ ต้องขึ้นอยู่กับประเภทและชนิดของรถยนต์ตามที่อธิบดีกำหนด ซึ่งก็คือ ประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กำหนดแบบเข็มขัดนิรภัยและประเภทของรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกที่ต้องจัดให้มีเข็มขัดนิรภัย พ.ศ.๒๕๕๕ มีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
               รถเก๋ง รถแท็กซี่ รถลีมูซีน รถกระบะ ๔ ประตู
               -  ถ้าจดทะเบียนก่อนวันที่ ๑ ม.ค.๒๕๓๑  = ไม่บังคับติดตั้งเข็มขัดนิรภัย
               -  ถ้าจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค.๒๕๓๑ - ๓๑ ธ.ค.๒๕๕๓ = ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยที่นั่งคนขับ และที่นั่งตอนหน้า
               -  ถ้าจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค.๒๕๓๔ = ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง
               รถ ๔ ล้อเล็กรับจ้าง (รถกระป๊อ) 
               -  ถ้าจดทะเบียน ตั้งแต่วันที่ ๑ เม.ย.๒๕๕๕ = ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยที่นั่งคนขับตอนหน้า
               รถตู้ส่วนบุคคล
               -  ถ้าจดทะเบียนก่อนวันที่ ๑ ม.ค.๒๕๓๗ = ไม่บังคับติดตั้งเข็มขัดนิรภัย
               -  ถ้าจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค.๒๕๓๗ = ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยที่นั่งคนขับ และที่นั่งตอนหน้า
               -  ถ้าผลิตหรือนำเข้าตั้งแต่วันที่ ๑ เม.ย.๒๕๕๕ = ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง
               รถปิคอัพ รถสองแถว 
               -  ถ้าจดทะเบียนก่อนวันที่ ๑ ม.ค.๒๕๓๗ = ไม่บังคับติดตั้งเข็มขัดนิรภัย
               -  ถ้าจดทะเบียนตั้งแต่วันที่ ๑ ม.ค.๒๕๓๗ = ต้องติดตั้งเข็มขัดนิรภัยที่นั่งคนขับ และที่นั่งตอนหน้า
               ประเภทเข็มขัดที่บังคับใช้กับรถทุกประเภท
               -  แบบรัดตักและรั้งพาดไหล่ (๓ จุด) ใช้กับ ที่นั่งคนขับและที่นั่งตอนหน้า
               -  แบบคาดเอว (๒ จุด) ใช้กับ ที่นั่งตรงกลาง

อัตราโทษค่าปรับไม่รัดเข็มขัดนิรภัยตามกฎหมายกำหนด
               รถเก๋งส่วนบุคคล : คนขับ-ไม่เกิน ๕๐๐ บาท , คนโดยสาร-ไม่เกิน ๕๐๐ บาท 
               รถปิคอัพ : คนขับ-ไม่เกิน ๕๐๐ บาท , คนโดยสาร-ไม่เกิน ๕๐๐ บาท 
               รถแท็กซี่ : คนขับ-ไม่เกิน ๕๐๐ บาท , คนโดยสาร-ไม่เกิน ๕๐๐ บาท 
               รถตู้สาธารณะ : คนขับ-ไม่เกิน ๕๐๐ บาท , คนโดยสาร-ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท 
               รถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ : คนขับ-ไม่เกิน ๕๐๐ บาท , คนโดยสาร-ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท 
               รถบรรทุก (รถสิบล้อ ส่งสินค้า) : คนขับ-ไม่เกิน ๕๐๐ บาท , คนโดยสาร-ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท
*หมายเหตุ.- หากคนขับรถทุกประเภท ไม่จัดให้ผู้โดยสารรัดเข็มเข็มนิรภัย จะถูกปรับอีกไม่เกิน ๕๐๐ บาท 

กฎหมายที่เกี่ยวข้อง