วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

แข่งรถในทางหรือขับรถเมาสุราอาจถูกยึดรถ

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
              วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ ๔๖/๒๕๕๘ เรื่อง "มาตรการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการขับขี่ยานพาหนะ" เพื่อให้การระงับยับยั้งและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนรำคาญ อันตราย และความเสียหายอันเกิดจากการขับขี่ยานพาหนะ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปและจัดระเบียบสังคม คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นมา และยังไม่มีคำสั่งยกเลิกแม้ว่าจะล่วงเลยเทศกาลปีใหม่มาแล้วก็ตาม อันมีสาระสำคัญ คือ
พฤติการณ์กระทำผิด
              "ในกรณีที่บุคคลมีพฤติการณ์หรือกระทำการดังต่อไปนี้
               (๑)  รวมกลุ่ม หรือมั่วสุม หรือจัดให้มีการรวมกลุ่ม หรือมั่วสุมในลักษณะหรือโดยพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการนำไปสู่การแข่งรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ในทาง อันเป็นความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก"
               (*ข้อพิจารณา.– เพียงแต่เริ่มมีการรวมกลุ่ม และมั่วสุม โดยมีพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการนำไปสู่การแข่งรถ เจ้าพนักงานก็มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้แล้ว)
               "(๒)  ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร หรือรถบรรทุกตั้งแต่หกล้อขึ้นไป โดยประมาท หรือโดยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้มีบุคคลบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ชีวิต"
               (*ข้อพิจารณา.– ต้องเป็นกรณีอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับรถ จำนวน ๓ ประเภท คือ รถยนต์โดยสารสาธารณะ รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร และรถบรรทุกตั้งแต่หกล้อขึ้นไป ที่ผู้ขับขี่ได้ขับรถโดยประมาทหรือเมาสุรา แล้วเกิดอุบัติเหตุจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย)

อำนาจของเจ้าพนักงาน 
                ทั้ง ๒ กรณีข้างต้น  เจ้าพนักงานตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจดำเนินการ ดังนี้
                (๑)  ยึดใบอนุญาตขับขี่ของผู้ขับขี่ ไว้เป็นการชั่วคราวได้ไม่เกิน ๓๐ วัน
                (๒)  นำรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่สงสัยว่าจะใช้ในการกระทำผิด มาเก็บรักษาไว้เป็นการชั่วคราวไม่น้อยกว่า ๗ วัน (หรือเกินกว่า ๗ วัน) ได้เท่าที่จำเป็นต่อการป้องกันหรือรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยสาธารณะ
                (๓)  จับกุมและควบคุมตัวไว้เพื่ออบรมความประพฤติ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน แต่ไม่เกิน ๑๕ วัน โดยจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้
                (*ข้อพิจารณา.- กรณีการรวมกลุ่มเพื่อจะแข่งรถ อาจถูกยึดใบอนุญาตขับขี่หรือถูกยึดรถชั่วคราว และถูกควบคุมตัวแบบไม่ใช่ผู้ต้องหาไว้เพื่ออบรมความประพฤติตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนการขับรถยนต์ทั้ง ๓ ประเภท ก็อาจถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดใบอนุญาตขับขี่และยึดรถได้เช่นกัน ถ้าหากเจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่าขับรถโดยประมาทหรือเมาสุราแล้วเชื่อว่าจะขับไปเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงดังกล่าวข้างต้น

การควบคุมตัว
                ไม่ถือว่าการควบคุมตัวดังกล่าว เป็นการควบคุมตัวผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาควบคุมตัวแล้ว หากมีเหตุอันจะต้องดำเนินคดีต่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวดังกล่าวในฐานะเป็นผู้ต้องหา ก็ให้ส่งตัวบุคคลนั้นให้พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย โดยไม่ให้นับระยะเวลาการควบคุมตัวประมาณ ๗ - ๑๕ วัน เพื่ออบรมความประพฤตินั้น รวมเข้ากับการควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ผู้ประกอบกิจการ
                ในกรณีบุคคลที่ได้ขับรถโดยประมาทหรือเมาสุราก่อให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตายข้างต้น เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ให้นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือสั่งปิดกิจการนั้นเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ไม่เกิน ๑๕ วัน เว้นแต่ผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวจะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นและได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ขับรถกระทำการดังกล่าว

การคุ้มครองเจ้าพนักงาน
                เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำการไปตามอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งนี้โดยสุจริต และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา ๑๗ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘