วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2556

การแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัด

            ปัญหาจราจรติดขัด เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในตัวเมืองที่มีประชาการอยู่กันอย่างหนาแน่น และมีการใช้รถ ใช้ถนน กันอยู่ตลอดเวลา ซึ่งสาเหตุเกิดจากการขยายจำนวนประชากรและที่อยู่อาศัยขึ้นอยู่อย่างรวดเร็ว และทุกคนได้ใช้รถเป็นยานพาหนะในการเดินทาง และการขนส่ง เพื่อความสะดวกสบายและความคล่องตัว ในปัจจุบันมีรถยนต์เพิ่มขึ้นบนท้องถนนจำนวนมาก ทำให้ไม่สมดุลกับถนนที่มีอยู่อย่างจำกัดและนับวันดูเหมือนจะคับแคบลง เพราะทุกคนเริ่มใช้ถนนเป็นที่ดำเนินกิจกรรมทำมาหาเลี้ยงชีพกันมากขึ้น การแก้ไขปัญหาจราจรติดขัดสามารถแก้ไขโดยหลักใหญ่ ๒ ประการ คือ เพิ่มพื้นที่ถนน และ ลดปริมาณรถบนถนนลง ซึ่งสามารถอธิบายหลักและวิธีดำเนินการอย่างง่ายและเหมาะสมกับประเทศไทย ดังนี้

          ๑. เพิ่มพื้นที่ถนน หมายถึง การทำให้ถนนโล่ง ว่าง หรือมีพื้นที่มากพอที่จะทำให้รถวิ่งบนท้องถนนได้สะดวก ไม่ติดขัด กล่าวคือ

           - การจัดเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร หรืออาสาจราจร ประจำจุดที่มีการจราจรติดขัด เพื่ออำนวยความสะดวก และสามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อมีรถมาอยู่รวมกันจำนวนมากหากเกิดการจราจรติดขัดขึ้น เจ้าหน้าที่ก็สามารถหาวิธีการ และให้สัญญาณ ในการเดินรถแก่ผู้ใช้รถ ใช้ถนน ให้เกิดความคล่องตัวขึ้นได้อย่างทันท่วงที
           - การกำหนดเขตห้ามหยุดและจอดรถ (เส้นขาว-แดง) ห้ามหยุดจอดชั่วขณะรับส่งคนโดยสารหรือส่งของได้(เส้นขาว-เหลือง) ให้เห็นชัดเจน และสามารถบังคับใช้ได้ทันที เมื่อมีผู้ฝ่าฝืนจอดรถในเขตดังกล่าว เช่น การออกใบสั่ง และการใช้รถยกเคลื่อนย้ายรถที่จอดกีดขวางดังกล่าวออกไปเก็บรักษา
           - การติดตั้งป้ายสัญญาณจราจร และป้ายแนะนำเส้นทางต่าง ๆ ผู้ใช้รถ ใช้ถนน สามารถเห็นได้ชัดเจน และเข้าใจได้ง่าย ทำให้สะดวกในการเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางอย่างไม่ติดขัด
           - การกวดขันวินัยการจราจรให้ผู้ขับขี่ปฏิบัติตามกฎหมาย การหยุดและจอดรถ อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย เช่น ไม่จอดรถในที่ห้ามจอด ไม่จอดรถซ้อนคัน ไม่จอดรถหรือขับรถในลักษณะกีดขวางการจราจร เป็นต้น
           - ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน เพราะอุบัติเหตุเป็นปัญหาหนึ่ง ที่ทำให้การจราจรติดขัด สาเหตุของอุบัติเหตุสามารถเกิดขึ้นได้ เช่น การเมาสุรา ยาเสพติด การขับรถโดยปราศจากความระมัดระวัง ละเมิดสิทธิการใช้เส้นทางเดินรถของผู้อื่น การฝ่าฝืนกฎหมายจราจร หรือมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น เช่น ความเร่งรีบในการเดินทาง การขับรถไม่มีน้ำใจ สภาพผิวถนน หรือแสงสว่างในเวลากลางคืน เป็นต้น ซึ่งสามารถป้องกันได้ด้วยการตั้งจุดตรวจ จุดสกัด ตรวจวัดแอลกอฮอล์ และยาเสพติด การสำรวจเส้นทางเพื่อแก้ไขจุดเสี่ยง จุดอันตราย จุดที่เกิดเหตุเป็นประจำ ด้วยการติดตั้งป้ายเตือนในทางโค้งต่าง ๆ การติดตั้งโคมไฟฟ้าให้แสงสว่างแก่เส้นทาง การจัดหาที่พักรถ สะดวก ปลอดภัย แก่ผู้ขับรถในระยะทางไกลที่พักผ่อนไม่เพียงพอ แต่ถ้าหากไม่สามารถป้องกันอุบัติเหตุได้ และเมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว เจ้าหน้าที่กู้ภัยหรือกู้ชีพต้องสามารถมาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาล และเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสามารถทำเครื่องหมายและแยกรถที่กีดขวางออกจากทางได้อย่างรวดเร็ว พนักงานสอบสวนต้องมาถึงที่เกิดเหตุโดยเร็วเพื่อทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุ รวบรวมพยานหลักฐานและถ่ายภาพ และสั่งการเคลื่อนย้ายรถมาตรวจสภาพและนำรถเก็บรักษา หรือสั่งให้คู่กรณีไปให้ปากคำที่สถานีตำรวจ เป็นต้น
           - การงดกิจกรรมการรวมกลุ่มบนท้องถนน เช่น การเดินขบวนปิดถนน เป็นต้น
           - การปรับพื้นผิวถนนให้สามารถใช้การได้ หากถนนเป็นหลุม บ่อ หรือขรุขระ จะทำให้ผู้ขับขี่หลบเลี่ยง หรือเบรคกระทันหัน เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น และบางแห่งก็ทำให้เสียการใช้ช่องทางการจราจรนั้นไปอีกหนึ่งช่องทางด้วย

           - การฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร หากมีรถคันหนึ่งฝ่าสัญญาณไฟจราจรออกมาขวางทางรถคันอื่นๆ ที่ได้ไฟเขียวแล้ว จะทำให้การจราจรในเส้นทางนั้นติดขัดไปหมด
           - สถานศึกษา ห้างสรรพสินค้า หรือโรงงาน บางแห่งที่อยู่ในตัวเมือง และมีประชาชนเดินทางโดยรถยนต์จำนวนมากมาอยู่รวมกันในสถานที่เดียวกันในเวลาเดียวกัน จะทำให้การจราจรคับคั่ง ซึ่งจะต้องหาวิธีการแก้ไข เช่น ปรับเปลี่ยนเส้นทาง ปรับเปลี่ยนเวลาการดำเนินกิจกรรม หรือปรับเปลี่ยนสถานที่ประกอบกิจกรรม เป็นต้น
           - การจัดตั้งศูนย์อำนวยความสะดวกในการจราจร ให้รับแจ้งอุบัติเหตุ หรือเหตุการจราจรติดขัดได้โดยเร็ว เมื่อได้รับแจ้งเหตุแล้ว สามารถประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว โดยหน่วยกู้ชีพหรือกู้ภัยที่เดินทางไปที่เกิดเหตุ ต้องมีกำลังคนและอุปกรณ์ครบถ้วน ทันสมัย พร้อมที่จะใช้ช่วยเหลือ แก้ไขสถานการณ์นั้นได้ทันที
           - การติดตั้งกล้อง CCTV ในการติดตามเฝ้าติดตามดูสถานการณ์การจราจร เพื่อควบคุม สั่งการ แก้ไขปัญหาจราจรได้ทันต่อสถานการณ์
           - การประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้รู้เหตุการณ์จราจรในเส้นทางต่าง ๆ ล่วงหน้า เพื่อหลีกเลี่ยงการขับรถไปยังเส้นทางที่มีการจราจรติดขัด
           - การห้ามวางขายสิ่งของในลักษณะกีดขวางบนทางเท้า การห้ามไม่ให้คนเดินเท้าพากันลงมาเดินบนพื้นผิวถนนเพื่อใช้เป็นทางเดิน หรือการห้ามจอดรถซ้อนคัน เพราะพฤติการณ์ดังกล่าวจะส่งผลให้พื้นที่ถนนที่ใช้สำหรับการเดินรถลดน้อยลงและก่อให้เกิดปัญหารถติด
           - ปัญหาคนเดินข้ามถนนในที่ไม่ใช่ทางข้ามหรือสะพานลอย นอกจากไม่ปลอดภัยต่อตัวผู้ข้ามถนนเองแล้ว ยังสร้างปัญหากีดขวางแก่ผู้ที่ขับขี่รถผ่านไปมาบนท้องถนน การจะข้ามถนนให้ปลอดภัย จะต้องข้ามกันที่ “ทางข้าม” หมายถึง “พื้นที่ที่ทำไว้สำหรับให้คนเดินเท้าข้ามทางโดยทำเครื่องหมายเป็นเส้นหรือแนวหรือตอกหมุดไว้บนทาง และให้หมายความรวมถึงพื้นที่ที่ทำให้คนเดินเท้าข้ามไม่ว่าในระดับใต้หรือเหนือพื้นดินด้วย” ตัวอย่างเช่น ทางม้าลาย และ สะพานลอย เป็นต้น ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้ผู้ขับรถจะต้องได้ใช้ความระมัดระวังผู้ที่ข้ามถนน
           - ในทางข้ามเป็นกรณีพิเศษ นอกจากนี้ ผู้ที่ไม่ข้ามถนนตรงทางข้ามภายในระยะไม่เกินหนึ่งร้อยเมตรนับจากทางข้าม ก็ต้องถูกระวางโทษปรับอีกด้วย
           - การเสริมไหล่ทางให้แก่เส้นทางที่คับแคบ จะช่วยให้ถนนกว้างมากขึ้น และรถยนต์สามารถหลบหลีกกันได้ง่ายขึ้นเมื่อสวนทางหรือแซงกัน
           - การก่อสร้างช่องการจราจรขึ้นเพิ่มเติม ทำให้รถมีช่องทางเดินรถได้มากขึ้น การเพิ่มช่องทางเดินรถตรงทางที่เป็นรูปคอขวด จะช่วยให้รถสามารถเลี้ยวซ้าย-ขวา แยกออกไปตามช่องทางต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
           - การจัดการเดินรถทางเดียวอย่างเป็นระบบ เพื่อให้รถสามารถไหลเวียนบนถนนได้อย่างคล่องตัว และลดการเกิดอุบัติเหตุ
           - การจัดหา หรือจัดทำ เส้นทางเลี่ยง หรือเส้นทางรอง เพื่อระบายปริมาณรถในเส้นทางหลักลง
           - การก่อสร้างทางด่วน หรือทางลัด สำหรับรถยนต์ หรือรถขนาดใหญ่ เพื่อไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ในเมืองที่มีปริมาณรถจำนวนมาก

           ๒. ลดปริมาณจำนวนรถ หมายถึง การทำให้รถบางชนิดได้เข้ามาขับขี่บนท้องถนนในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง ลดน้อยลงกว่าเดิม กล่าวคือ

            - การปรับเปลี่ยนเวลาเดินรถ หรือเวลาขับรถไปทำงาน ในสถานที่หรือบริเวณเดียวกัน ไม่ให้ตรงกัน
            - การจัดหาสถานที่จอดรถ ในอาคารหรือสถานที่สำหรับจอดรถในสถานที่สำคัญให้มากขึ้น เป็นการลดจำนวนรถ ไม่ให้รถไปจอดอยู่ข้างทางฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หรือทั้งสองฝั่ง หรือจอดซ้อนคัน
           - การเดินทางตามลำพังคนเดียวหรือสองคน ให้เปลี่ยนจากขับรถยนต์ มาเป็นขับรถจักรยานยนต์ หรือรถจักรยาน ซึ่งมีขนาดเล็กกว่ารถยนต์ จะช่วยทำให้คล่องตัวในการเดินทาง และลดปริมาณการใช้รถยนต์ลง
           - การส่งเสริมให้ใช้รถจักรยาน โดยเพิ่มช่องไหล่ทางสำหรับรถจักรยาน เพื่อลดปริมาณรถยนต์ลง ในระยะทางใกล้ ๆ บางครั้งรถจักรยานจะสะดวก รวดเร็วกว่าในการเดินทางโดยรถยนต์ เป็นการออกกำลังกาย และลดภาวะโลกร้อนด้วย
           - การห้ามรถขนาดใหญ่ เข้าไปใช้ถนนบางสาย หรือในที่คับขัน จะช่วยลดปริมาณรถลง ไม่ให้การจราจรติดขัด
           - การใช้รถร่วมกัน การเดินทางไปที่แห่งเดียวกัน หากสามารถพึ่งพาอาศัยกันเดินทางไปด้วยกันได้ จะประหยัดค่าใช้จ่ายและช่วยลดการจราจรที่ติดขัดได้อย่างมากอีกด้วย
           - การส่งเสริมการใช้ระบบขนส่งมวลชนในลักษณะต่าง ๆ ที่มีความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดกว่าการใช้รถยนต์ส่วนตัว การขนส่งมวลชนจะสามารถขนส่งคนได้ปริมาณมากในคราวเดียว และลดปริมาณรถบนถนนลง นอกจากนี้ การให้บริการของพนักงานประจำรถที่ดี จะจูงใจให้คนส่วนใหญ่มาใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น
           - การจัดสถานที่ให้รถโดยสารหรือรถยนต์ส่วนตัว มาจอดรับ-ส่งเด็กนักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในตัวเมืองบางแห่ง ซึ่งมีการจราจรคับคั่ง สามารถแก้ไขปัญหาได้โดยการเปิดประตูโรงเรียนให้เด็กนักเรียนสามารถเดินทางเข้ามาหรือออกจากโรงเรียนได้หลายช่องทางมากยิ่งขึ้น ผู้ขับรถก็จะสามารถเลือกจอดรถได้หลายแห่ง แทนที่จะขับรถเข้ามาจอดตรงประตูโรงเรียนเพียงแห่งเดียว รวมทั้ง การจัดทำทางเดินเท้าให้แก่เด็กนักเรียนโดยเฉพาะ เพื่อให้นักเรียนสามารถเดินเท้ามาจากจุดที่จอดรถจนกระทั่งเข้าไปในโรงเรียนได้โดยปลอดภัย จึงเป็นแนวทางหนึ่งในการลดปริมาณรถลง ไม่ให้รถเข้ามาจอดหรือหยุดอย่างแออัดบนถนนเพียงจุดเดียว                 
            นอกจากนี้ ยังมีวิธีการต่างๆ ในการลดจำนวนรถลง ซึ่งบางวิธีการ ในประเทศไทยยังไม่มีการนำมาใช้ เช่น การห้ามผู้ขับรถเพียงคนเดียวโดยไม่มีผู้โดยสารนั่งมาด้วยผ่านเส้นทางบางแห่ง การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง และการเก็บภาษีรถยนต์ในราคาสูงขึ้น เป็นต้น