วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หลักการวินิจฉัยคดีจราจรเบื้องต้น

การแสวงหาพยานหลักฐาน
               เมื่อเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกขึ้น ไม่ว่าเกิดจากรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถบรรทุก รถโดยสาร ตลอดจนยานพาหนะทางบกทุกชนิด เมื่อเกิดการเฉี่ยวชนกัน หรือชนกับวัตถุอื่นใดในทาง หรือชนคนเดินเท้า คนโดยสาร ก็ตาม ย่อมจะมีผู้ได้รับความเสียหายและมีผู้ขับขี่หรือกระทำโดยประมาท พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รับแจ้งเหตุและรวบรวมพยานหลักฐาน โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องที่จะต้องมาให้ปากคำแก่พนักงานสอบสวน เช่น ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และเจ้าของรถ เป็นต้น
               ทั้งนี้ ​กฎหมายให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ทำการสืบสวนสอบสวนคดีอุบัติเหตุจราจรทางบก ด้วยการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานไปตามอำนาจหน้าที่ เพื่อจะทราบรายละเอียดแห่งความผิด และรวบรวมพยานหลักฐานตลอดจนการดำเนินการทั้งหลายอื่นซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิด และเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ โดยในคดีจราจรทางบกให้ถือว่ารัฐเป็นผู้เสียหาย
               ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุคดีจราจร ทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว พนักงานสอบสวนจะเป็นผู้กล่าวหาในความผิดอาญาดังกล่าวเอง โดยที่คู่กรณีที่พิพาทกันไม่จำต้องเป็นผู้กล่าวหาในคดีจราจรทางบก ส่วนฝ่ายไหนจะเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้ต้องหา ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยคดีเบื้องต้นของพนักงานสอบสวน โดยจะต้องมีการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นก่อนทุกครั้ง
              การแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน สามารถหาได้จากแหล่งข้อมูลดังต่อไปนี้
​               ๑. สถานที่เกิดเหตุ ด้วยการเดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ จะทำให้ทราบเกี่ยวกับรายละเอียด ดังนี้
                  -  ลักษณะของถนน มีสภาพเป็นทางหลวง ทางลูกรัง ทางตรง ทางโค้ง หรือทางร่วมทางแยก มีความกว้าง พื้นผิวถนน ความลาดเอียง เป็นต้น
                  -  ร่องรอยบนถนน มีรอยล้อ รอยยาง รอยครูด รอยเลือด ฝุ่น โคลน เศษวัตถุหรือชิ้นส่วนของรถที่ตกอยู่  เป็นต้น
                  -  ลักษณะเครื่องหมายจราจร สัญญาณไฟจราจร โดยสังเกตจากสัญญาณไฟจราจรสีต่างๆ ในทางร่วมทางแยกแต่ละด้านว่า การเปลี่ยนแปลงใช้ระยะเวลาเท่าใด และให้สัญญาณแก่รถเคลื่อนตัวไปทิศทางใดตามลำดับ ลักษณะป้ายจราจร ป้ายบังคับ ป้ายเตือน ป้ายแนะนำ หรือเครื่องหมายจราจรบนพื้นทางและขอบทางเท้า เส้นแบ่งช่องเดินรถ ทิศทางการเดินรถ เส้นขอบทาง เส้นแนวหยุด เส้นทแยงสำหรับทางแยก และลักษณะลูกศรบนถนนกำหนดทิศทาง เป็นต้น
                  -  สภาพการจราจร  มีรถพลุกพล่าน การจราจรติดขัด ย่านชุมนุมชน เขตก่อสร้าง มีสิ่งกีดขวาง ค่อนข้างเปลี่ยว หรือรถสามารถเคลื่อนด้วยความเร็วได้ เป็นต้น
 ​                 -   ลักษณะภูมิอากาศ มีฝนตก ถนนลื่น ความมืด ความสว่าง มีฝุ่นควัน เป็นต้น
             ​๒. คำให้การของพยานบุคคล ซึ่งจะเล่าให้ทราบถึงรายละเอียดต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ มีดังต่อไปนี้
                  -  บุคคลที่เกี่ยวข้องก่อนหรือในขณะเกิดเหตุ ได้แก่ ผู้ขับรถ ผู้โดยสาร ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำรถ ผู้เห็นเหตุการณ์ ผู้อยู่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุ เป็นต้น
                  -  บุคคลที่เกี่ยวข้องหลังเกิดเหตุ ได้แก่ พนักงานสอบสวน แพทย์ เจ้าพนักงานพิสูจน์หลักฐาน เจ้าของรถ บิดามารดาของผู้เยาว์ ญาติของผู้ตาย เป็นต้น
   ​          ๓. สภาพความเสียหายของรถ ทำให้ทราบลักษณะทิศทางการชนของรถ ความเร็วของรถ ความแรงของการชน สีของรถคันที่ชนติดอยู่ ระดับความสูงต่ำหรือตำแหน่งที่ชนกัน คราบเลือดหรือชิ้นเนื้อ เส้นผมของผู้บาดเจ็บที่ติดอยู่ ร่องรอยความเสียหายของรถแต่ละคันที่ชนกัน ซึ่งเมื่อนำรถคู่กรณีมาวางเทียบตำแหน่งเข้าด้วยกันแล้วพิจารณาประกอบกับร่องรอยบนถนนแล้วจะสามารถบอกทิศทางการชนกันของรถได้
             ๔. ลักษณะอาการบาดเจ็บ ลักษณะของบาดแผลที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ความรุนแรงจนเกิดการแตกหักของกระดูก รอยถลอก ทำให้ทราบทิศทางการชนของรถ ความเร็วรถ ทิศทางการล้มหรือกระแทกระหว่างร่างกายกับอุปกรณ์ส่วนควบของรถหรือกับพื้นถนน เป็นต้น
             ๕. ผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้ที่มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น ในทางวิทยาศาสตร์  การตรวจพิสูจน์หลักฐาน การแพทย์ การช่างซ่อมตัวรถ หรือเครื่องยนต์ของรถ และความเห็นของผู้นั้นอาจมีประโยชน์ในการวินิจฉัยคดีในการสอบสวนหรือพิจารณาคดี
             ๖. แหล่งอื่น ๆ เช่น กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ตรงทางร่วมทางแยก กล้องวีดิโอติดหน้ารถยนต์ เป็นต้น

             พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐานจากแหล่งต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น โดยอาศัยข้อมูลจากคำให้การของผู้ที่เกี่ยวข้องในที่เกิดเหตุ ข้อมูลที่ได้จากการตรวจสถานที่เกิดเหตุ ข้อมูลที่ได้จากความเสียหายที่เกิดขึ้นที่ตัวรถ ข้อมูลจากการตรวจรักษาผู้บาดเจ็บหรือการชันสูตรพลิกศพผู้เสียชีวิต มาประกอบการพิจารณาว่ามีความสัมพันธ์กันอย่างไร ซึ่งจะทำให้ทราบถึง ช่วงวันเวลาที่เกิดเหตุ รถที่ขับมามีทิศทางการเดินรถจากที่ใดมุ่งหน้าไปทิศทางใด และทราบถึงทิศทางการชนกันในทาง ดังนั้น การรักษาสถานที่เกิดเหตุเบื้องต้น จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้พนักงานสอบสวนได้ทราบถึงพฤติการณ์ในการขับรถและวินิจฉัยคดีได้ถูกต้อง สามารถชี้ให้เห็นว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายที่ขาดความระมัดระวังในการขับรถมากกว่ากัน เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นจึงไม่ควรเคลื่อนย้ายรถหรือสิ่งอื่นใดจนกว่าพนักงานสอบสวนจะเดินทางมาถึงที่เกิดเหตุ เว้นแต่ การเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บนำส่งโรงพยาบาล หรือมีการจราจรติดขัดมาก ก็ให้ถ่ายภาพและทำเครื่องหมายไว้ก่อนก็ได้

หลักในการวินิจฉัยคดีเบื้องต้น
             ลำดับแรก  ให้พิจารณาเรื่องสิทธิการใช้ทาง
             ยกตัวอย่างเช่น ผู้ขับขี่ต้องได้รับสัญญาณไฟจราจรสีเขียวให้ไปก่อนจึงจะมีสิทธิก่อน เว้นแต่มีเจ้าพนักงานจราจรให้ไปก่อนก็ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานจราจร สิทธิการใช้ทางย่อมเป็นของผู้ขับขี่ฝ่ายที่ได้รับสัญญาณจราจรที่ให้เคลื่อนรถไปได้ ถ้าไม่มีสัญญาณจราจร แต่มีรถอยู่ในทางร่วมทางแยกซึ่งหมายถึงมีรถอยู่ในพื้นที่ที่ทางเดินรถตัดกัน ก็ให้รถในพื้นที่ทางร่วมทางแยกนั้นผ่านไปก่อน ถ้ารถมาถึงพร้อมกันซึ่งหมายถึงมาชนกันในพื้นที่ตัดกันของทางร่วมทางแยกพอดี สิทธิในการใช้ทางย่อมเป็นของผู้ขับขี่รถในทางเอกนั้นมีสิทธิผ่านไปก่อน ถ้าเป็นทางร่วมทางแยกที่ไม่มีทางเอกตัดกับทางโท ก็ต้องให้สิทธิแก่รถที่อยู่ทางซ้ายมือผ่านไปก่อน นอกจากนี้ ผู้ขับขี่ต้องระวังไม่ให้รถไปชนหรือโดนคนเดินเท้าซึ่งหมายถึงสิทธิของคนเดินเท้าดีกว่า หรือกรณีผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ห่างจากคันข้างหน้าพอสมควรที่จะหยุดรถได้ทันเมื่อจำเป็นต้องหยุดรถซึ่งหมายถึงรถคันหน้ามีสิทธิการใช้ทางดีกว่า เป็นต้น รถที่ไม่มีสิทธิใช้ทางดีกว่า ย่อมมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าขับรถโดยประมาท
             ลำดับที่สอง  ให้พิจารณาเรื่องการฝ่าฝืนกฎหมาย
             ยกตัวอย่างเช่น ฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรให้เดินรถทางเดียว ฝ่าฝืนเครื่องหมายจราจรห้ามแซง ห้ามเลี้ยว ฝ่าฝืนกฎหมายโดยขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ขับรถในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ ฝ่าฝืนไม่ลดความเร็วรถในทางร่วมทางแยก เป็นต้น ย่อมมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าขับรถโดยประมาท ส่วนกรณีผู้ขับขี่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่แต่มีความชำนาญในการขับรถแล้ว การฝ่าฝืนกฎหมายเพราะไม่มีใบขับขี่นั้นไม่ได้เป็นสาเหตุของการขับรถโดยประมาท
             ลำดับที่สาม  ให้พิจารณาเรื่องปัจจัยเสี่ยงให้เกิดอุบัติเหตุ
             ยกตัวอย่างเช่น มีสาเหตุปัจจัยเร่งรัดที่ทำให้ผู้ขับขี่ต้องรีบเร่งขับรถเร็วมากเป็นพิเศษเพื่อให้ทันเวลานัดหมายจนขาดความระมัดระวัง การขาดสมาธิในการขับรถ หรือสภาพถนนเปียก ลื่น เป็นหลุมบ่อ หรือมีสิ่งกีดขวาง แสงสว่างที่ไม่เพียงพอ ทางโค้งอันตราย หรืออุปกรณ์ส่วนควบของรถเสียหายในขณะขับรถ เป็นต้น ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ย่อมมีพฤติการณ์น่าเชื่อว่าขับรถโดยประมาท
             ลำดับสุดท้าย  ให้พิจารณาจากทุกปัจจัยที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
             เมื่อพิจารณาตามลำดับขั้นตอนทั้งสามแล้ว จะสามารถสรุปเหตุผลและวินิจฉัยคดีเบื้องต้นได้ว่าคู่กรณีฝ่ายใดน่าจะเป็นฝ่ายขับรถโดยประมาท หมายความว่า ขับรถโดยปราศจากการระมัดระวังซึ่งในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ที่ผู้ขับขี่อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ เมื่อชั่งน้ำหนักจากพยานหลักฐานเบื้องต้นแล้ว พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหาให้ฝ่ายที่น่าเชื่อว่าเป็นฝ่ายกระทำโดยประมาทให้ทราบ ซึ่งอาจจะเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายก็ได้ ผู้ที่ถูกกล่าวหาย่อมมีสิทธิที่จะต่อสู้คดีในกรณีที่ไม่เห็นพ้องด้วยกับการวินิจฉัยเบื้องต้น หรือหากยอมรับตามคำวินิจฉัยก็จะเป็นแนวทางให้คู่กรณีสามารถตกลงประนีประนอมยอมความเรื่องค่าเสียหายกันได้ง่ายขึ้น เมื่อตกลงเรื่องค่าเสียหายกันได้ คดีความย่อมยุติลงโดยง่ายเช่นกัน