วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

การเปรียบเทียบปรับที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๙๔๒/๒๕๔๘
ป.อ. มาตรา  ๙๐
ป.วิ.อ. มาตรา ๓๗
                จำเลยขับรถยนต์โดยประมาท ชนท้ายรถยนต์คันที่ผู้เสียหายเป็นผู้ขับอยู่ข้างหน้าในช่องทางเดียวกัน เป็นเหตุให้รถยนต์ของผู้เสียหายได้รับความเสียหายและผู้เสียหายรับอันตรายแก่กาย พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าวโดยผู้เสียหายและจำเลยยินยอม
                การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔), ๑๕๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐
                พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔), ๑๕๗ ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ เพื่อให้ความผิดทั้งหมดรวมทั้งความผิดที่มีโทษหนักกว่าเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๗ ได้
                แม้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วในความผิดฐานดังกล่าวโดยความยินยอมของผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายมิได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ ด้วย ก็ตาม การเปรียบเทียบปรับย่อมไม่ชอบ คดีอาญาไม่เลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๗ ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ได้