วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ข้อสันนิษฐาน ขับรถในขณะเมาสุรา (ถ้าไม่ยอมให้ทดสอบ)


              ให้เพิ่มเติม วรรคสาม ของมาตรา ๒๔  แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒  ดังนี้
              "การแสดงสัญญาณจราจรของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรานี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะใช้ไฟฉายเรืองแสง หรืออุปกรณ์เรืองแสงอื่นด้วยก็ได้"

*ข้อพิจารณา บทบัญญัติเดิมของมาตรา ๒๔ เป็นเรื่องที่ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรที่พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงให้ปรากฎข้างหน้า ซึ่งว่าด้วยเรื่องของสัญญาณมือ ส่วนกฎหมายที่เพิ่มเติมใหม่โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ใช้ไฟฉายเรืองแสงหรืออุปกรณ์เรืองแสงในเวลากลางคืน ประกอบสัญญาณมืออีกด้วย ก็ได้
----------------------------------
             ให้ยกเลิก มาตรา ๑๔๒ แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งเดิมบัญญัติว่า
             "เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถ ในเมื่อ
               (๑) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖
               (๒) เห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ
               ในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๑) หรือ (๒) ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่า หย่อนความสามารถในอันที่จะขับ หรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หรือไม่
               ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกักตัวผู้นั้นไว้ดำเนินการทดสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จำเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว และเมื่อผู้นั้นยอมให้ทดสอบแล้ว หากผลการทดสอบปรากฏว่าไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๑) หรือ (๒) ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
               การทดสอบตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"

               และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา ๑๔๒
               "เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถ ในเมื่อ
               (๑) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖
               (๒) เห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้น ได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ
               ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๑) หรือ (๒) ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่
               ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกักตัวผู้นั้นไว้ดำเนินการทดสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จำเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว และเมื่อผู้นั้นยอมให้ทดสอบแล้ว หากผลการทดสอบปรากฏว่าไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๑) หรือ (๒) ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
               ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่า ผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้นยังไม่ยอมทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๒)
               การทดสอบตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"

*ข้อพิจารณา.-  กฎหมายใหม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้  
               -  กฎหมายใช้คำว่า "กรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนฯ" แทนคำว่า "เมื่อเห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นได้ฝ่าฝืนฯ" แสดงว่า เจ้าพนักงานสามารถใช้ดุลยพินิจที่จะสั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ได้ ถ้าปรากฏว่าผู้ขับขี่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าเป็นผู้ขับขี่และเมาสุราแล้วขับรถหรือหย่อนความสามารถ เจ้าพนักงานก็สามารถสั่งให้มีการทดสอบได้แล้ว ซึ่งกฎหมายเดิมเจ้าพนักงานต้องเห็นว่าผู้นั้นกำลังขับรถและขับในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ หรือในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ตามมาตรา ๔๓ (๑) , (๒) จึงจะสั่งให้มีการทดสอบได้
               -  กรณีผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบ เจ้าพนักงานมีอำนาจกักตัวไว้เพื่อดำเนินการทดสอบได้ ระยะเวลากักตัวนั้นไม่กำหนดแน่ชัดว่ากี่ชั่วโมง แต่กฎหมายบัญญัติว่าได้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว ถ้ายอมให้ทดสอบแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
               -  ตามมาตรา ๑๔๒ วรรคสอง ให้อำนาจพนักงานสอบสวนซึ่งปฏิบัติหน้าที่สอบสวนอยู่ในที่ทำการพนักงานสอบสวนสั่งให้มีการทดสอบได้ด้วย แม้ว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้เป็นผู้สั่งให้หยุดรถตามมาตรา ๑๔๒ วรรคแรก แต่ถ้าหากพนักงานสอบสวนเห็นเหตุการณ์ในขณะอยู่ในที่เกิดเหตุนั้นด้วยตนเอง หรือได้รับแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษจากผู้เห็นเหตุการณ์ในขณะนั้นว่าผู้ขับขี่ได้ขับรถในขณะเมาสุราประกอบกับมีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าขณะนั้นผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นจริง พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ได้ทันทีเช่นกัน
               -  มาตรา ๑๔๒ แก้ไขใหม่ได้เพิ่มเติมวรรคสี่ อันเป็นบทสันนิษฐานโดยเด็ดขาด ในกรณีที่มีการสั่งให้มีการทดสอบแล้ว ผู้นั้นไม่ยอมให้ทดสอบ แม้ว่าจะมีการกักตัวไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่าที่จำเป็นแก่กรณีเพื่อการทดสอบแล้วก็ตาม
                  ซึ่งการทดสอบสามารถทำได้ ๓ วิธี คือ ตรวจวัดลมหายใจโดยวิธีเป่า ตรวจวัดจากปัสสาวะ และตรวจวัดจากเลือด ตามลำดับ โดยการตรวจวัดจากปัสสาวะและเลือดจะสามารถทำได้ต่อเมื่อไม่สามารถตรวจวัดจากลมหายใจได้เท่านั้น และการตรวจวัดจากเลือดจะต้องส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยทำการเจาะเลือดภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
                  ถ้าหากผู้นั้นไม่ยินยอมให้ทำการทดสอบดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ดังนี้ เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานสอบสวนก็สามารถดำเนินคดีผู้นั้นได้ตามกฎหมาย เสมือนเป็นผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ซึ่งศาลสามารถรับฟังคำให้การของเจ้าพนักงานตำรวจที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีได้เช่นเดียวกัน
              -  ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยไม่ยอมให้ทดสอบตามมาตรา ๑๔๒ วรรคสอง ย่อมมีโทษตามมาตรา ๑๕๔ (๓) อีกฐานหนึ่งด้วย คือ ต้องระวางโทษปรับครั้งละไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท

บทความที่เกี่ยวข้อง
ถ้าไม่ยอมให้ตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย
การเก็บเลือดและส่วนประกอบอื่นของร่างกาย
(Update: 04-sep-15)

จับผิดด้วยกล้อง ให้ส่งใบสั่งทางไปรษณีย์


            ยกเลิก มาตรา ๑๔๐ วรรคหนึ่ง ซึ่งเดิมบัญญัติว่า
            "เมื่อเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ จะว่ากล่าวตักเตือนผู้ขับขี่ หรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบก็ได้ ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้ขับขี่ก็ให้ติดหรือผูกใบสั่งไว้ที่ผู้ขับขี่เห็นได้ง่าย"

            และให้ใช้  มาตรา ๑๔๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติใหม่ว่า
            "เมื่อเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบด้วยตนเองหรือโดยการใช้เครื่องอุปกรณ์ใด ๆ ว่าผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ จะว่ากล่าวตักเตือนผู้ขับขี่ หรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบก็ได้ ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้ขับขี่ให้ติดหรือผูกใบสั่งไว้ที่รถให้ผู้ขับขี่เห็นได้ง่ายและถ้าไม่สามารถติดหรือผูกใบสั่งไว้ที่รถไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้สั่งใบสั่งพร้อมพยานหลักฐานโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถภายในระยะเวลาตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด นับแต่วันที่เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบการกระทำความผิด และให้ถือว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งนั้นเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันส่ง"

* ข้อพิจารณา.-  กฎหมายที่แก้ไขใหม่ มีการเพิ่มเติมดังนี้
             - เพิ่มเติมคำว่า "พบด้วยตนเองหรือโดยการใช้เครื่องอุปกรณ์ใด ๆ"
                เห็นว่า เจ้าพนักงานต้องเป็นผู้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวด้วยตนเอง เช่น ใช้เครื่องตรวจจับความเร็ว กล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือกล้องถ่ายรูป เป็นต้น
             -  เพิ่มเติมคำว่า "และถ้าไม่สามารถติดหรือผูกใบสั่งไว้ที่รถไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้สั่งใบสั่งพร้อมพยานหลักฐานโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถภายในระยะเวลาตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด นับแต่วันที่เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบการกระทำความผิด และให้ถือว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งนั้นเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันส่ง"
                ยกตัวอย่าง เมื่อรถขับผ่านกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือเครื่องตรวจจับความเร็ว เจ้าพนักงานย่อมไม่สามารถผูกติดใบสั่งได้อย่างแน่นอน กฎหมายได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานส่งใบสั่ง พร้อมรูปถ่ายรถที่ขับด้วยความเร็วเกินกำหนด หรือฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ไปให้เจ้าของรถหรือผู้ครอบครอง โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเท่านั้น
                นับแต่วันที่เจ้าพนักงานพบการกระทำความผิด เจ้าพนักงานจะต้องส่งหลักฐานนั้นไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถภายในระยะเวลาตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันส่งใบสั่ง ให้ถือว่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองได้รับใบสั่งแล้ว
              หลังจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งตามข้อสันนิษฐานข้างต้น แล้วอาจเลือกปฏิบัติโดยให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถไปชำระค่าปรับตามสถานที่ระบุในใบสั่งหรือชำระโดยการสั่งธนาณัติ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้  ถ้าผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจตามมาตรา ๑๔๑ ทวิ กล่าวคือ ออกหมายเรียกให้มาพบเพื่อสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย และแจ้งเป็นหนังสือไปยังนายทะเบียนขนส่งทางบกให้งดรับชำระภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้นเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่าได้มีการปฏิบัติตามหมายเรียกนั้นแล้ว (ปัจจุบันมีการยกเลิกมาตรา ๑๔๑ ทวิ แล้ว)

บทความที่เกี่ยวข้อง 
การชำระค่าปรับตามใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจร

(Update : 28/07/2560)

วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชนแล้วหนีและไม่ช่วยเหลือจนผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๕๑๖/๒๕๔๙
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘๕ วรรคหนึ่ง , ๑๙๕ วรรคสาม, ๒๒๕
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๖๐
             โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงผ่านทางร่วมทางแยกเป็นเหตุให้พุ่งเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายที่ ๑ ขับ ทำให้ผู้เสียหายที่ ๑ ได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหน้า กระดูกเบ้าตาแตกยุบ ลูกนัยน์ตาทั้งสองข้างชอกช้ำมาก สูญเสียลูกนัยน์ตาซ้ายอย่างถาวร (ตาบอด) อันเป็นอันตรายสาหัส และภายหลังที่จำเลยกระทำความผิดดังกล่าว จำเลยไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่ไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส
             ดังนี้ คำบรรยายฟ้องดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังว่า การหลบหนีของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ ๑ ได้รับอันตรายสาหัส เนื่องจากผู้เสียหายที่ ๑ ต้องได้รับอันตรายสาหัสโดยสูญเสียลูกนัยน์ตาตั้งแต่ขณะถูกรถชนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรฯ เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๖๐ วรรคสอง แต่เป็นเพียงการขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา ๑๖๐ วรรคหนึ่ง เท่านั้น
             ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๗๘ และมาตรา ๔๓ (๘) โดยไม่ระบุวรรคและไม่ปรับบทลงโทษมาตรา ๑๖๐ วรรคสาม ด้วยนั้น ไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ จำเลยมีความผิดตามมาตรา ๔๓ (๔) (๘), ๗๘ วรรคหนึ่ง, ๑๕๗, ๑๖๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม

วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิธีทำแผนที่แสดงสัญญาณไฟจราจร

               เมื่อมีอุบัติเหตุรถชนกันขึ้นบริเวณทางร่วมทางแยก พนักงานสอบสวนจะจัดทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุขึ้นฉบับหนึ่ง ประกอบไปด้วย รูปวาดช่องทางเดินรถ เครื่องหมายบนพื้นทาง ป้ายจราจร รูปวาดตำแหน่งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ศพผู้ตาย ร่องรอยบนพื้นถนน รอยครูด รอยยางรถ ทิศทางการเดินรถ ทิศทางการขับรถของคู่กรณี ระยะห่างของรถคู่กรณี ระยะห่างจากขอบทาง ระยะห่างจากจุดสำคัญต่าง ๆ ตลอดจนอาคารบ้านเรือน ต้นไม้ หลักกั้นทางโค้ง ฯลฯ วาดเขียนลงในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุดังกล่าว
              แต่กรณีที่เกิดเหตุเป็นทางร่วมทางแยกที่มีสัญญาณไฟจราจร การวินิจฉัยคดีจึงต้องถือสัญญาณจราจรเป็นหลัก จะนำหลักของทางเอกทางโทมาใช้วินิจฉัยย่อมไม่ได้  เมื่อสอบถามคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่า ฝ่ายตนได้รับสัณญาณจราจรไฟสีเขียวด้วยกันทั้งคู่ ประกอบกับทางแยกที่เกิดเหตุไม่มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดมาเปิดให้ดูย้อนหลังว่าฝ่ายใดฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรด้วยแล้ว การวินิจฉัยคดีเบื้องต้นย่อมจะพิจารณาได้ค่อนข้างลำบากว่าฝ่ายใดที่ให้การเท็จหรือไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง
              ดังนั้น จึงมีข้อแนะนำแก่พนักงานสอบสวนที่ทำหน้าที่วินิจฉัยคดีว่าฝ่ายใดพูดความจริงมากกว่ากัน โดยต้องเดินทางไปตรวจดูการเปิด-ปิดสัญญาณจราจรไฟสีต่าง ๆ ทุกด้านของทางร่วมทางแยกนั้น แล้ววาดเขียนแผนที่สัญญาณไฟจราจรขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งสำหรับประกอบแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุที่จัดทำขึ้นตามปกติข้างต้น รวมเข้าไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย
              แผนที่แสดงสัญญาณไฟจราจร นี้จะแสดงให้เห็นว่า ในทางร่วมทางแยกมีการให้สัญญาณแก่รถในทางแต่ละด้านเคลื่อนผ่านทางร่วมทางแยก ก่อน-หลัง เรียงตามลำดับกันอย่างไร  เพราะทางแยกบางแห่งมีการให้สัญญาณรถตรงไป หรือเลี้ยวรถแตกต่างกันกับอีกแห่งหนึ่งตามความประสงค์ของนักวิศวกรรมจราจรที่ท่านเห็นว่าเหมาะสม (ซึ่งบางแห่งก็ไม่เหมาะสมเพราะทำให้รถเกิดอุบัติเหตุชนกันบ่อย ซึ่งผู้เขียนเคยทำหนังสือนำเรียนไปยังแขวงการทางจังหวัดให้ปรับเปลี่ยนการเปิดสัญญาณไฟจราจรของทางแยกบางแห่งมาแล้ว ซึ่งหลังจากปรับเปลี่ยนการเปิดสัญญาณไฟแบบใหม่ปรากฏว่าอุบัติเหตุลดลงได้จริง) ยกตัวอย่างเช่น บางแห่งให้สัญญาณรถเคลื่อนไปทีละด้านจนครบทุกด้าน บางแห่งก็ให้สัญญาณรถขับตรงไปในลักษณะสวนกันก่อนแล้วค่อยให้สัญญาณเลี้ยวรถในภายหลัง ก็มี
              นอกจากนี้ การระบุระยะเวลาของการให้สัญญาณไฟสีเขียว สีเหลือง สีแดง ซึ่งเรียงตามลำดับแก่ทางเดินรถแต่ละด้านว่าใช้เวลากี่วินาที จะทำให้รู้ว่า ทางเดินรถแต่ละด้านมีช่วงเวลาเดินรถจำกัดเพียงใด เพราะบางครั้ง ทางเดินรถแต่ละด้านจะมีระยะเวลาการเดินรถผ่านทางร่วมทางแยกไปไม่เท่ากัน เราจะพบว่าเส้นทางสายหลักที่มีปริมาณรถจำนวนมาก สัญญาณจราจรไฟสีเขียวจะมีเวลาเดินรถมากกว่าเส้นทางสายรองที่มีปริมาณรถน้อยกว่า เป็นต้น
             การสังเกตระยะเวลาและทิศทางปรับเปลี่ยนของสัญญาณจราจรไฟสีต่างๆ ในแต่ละด้าน จะทำให้เราทราบว่า ขณะเกิดเหตุรถในช่องทางใด หยุดรอสัญญาณจราจรไฟสีแดงบ้าง ในขณะที่อีกช่องทางหนึ่งได้รับสัญญาณไฟสีเขียวให้เคลื่อนผ่านทางร่วมทางแยกไปได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุที่ทำไว้เป็นฉบับที่มีจุดชน รอยชน รอยครูด หรือรอยยางแล้ว ทำให้รู้ได้ว่า รถคันไหนน่าจะฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรสีแดง คู่กรณีฝ่ายใดน่าจะให้การตามความเป็นจริง ฝ่ายใดให้การเท็จ ซึ่งจะทำให้พนักงานสอบสวนสามารถซักถามตามความเป็นจริง และง่ายต่อการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายเสียเปรียบหรือเป็นฝ่ายก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น