วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ค่าเสียหายกรณีต่างฝ่ายต่างประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓๙๑/๒๕๕๑
ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๓ , ๔๓๘, ๔๔๒
ป.วิ.อ. มาตรา ๔๖ , ๔๗
              จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเลี้ยวขวาอย่างรวดเร็ว โดยไม่ดูให้ปลอดภัยและไม่ให้สัญญาณใด ในขณะที่โจทก์ขับรถจักรยานยนต์เบียดแซงขึ้นมาโดยไม่ให้สัญญาณใดๆ ทำให้เฉี่ยวชนกันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกสะบ้าด้านขวาและกระดูกหน้าแข้งขวาหักต้องรักษาโดยการผ่าตัด รถจักรยานยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์และจำเลยต่างถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นว่าขับรถด้วยความประมาท โจทก์และจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษทั้งโจทก์และจำเลยแล้ว
              ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๖ ปรากฏว่า ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติในคดีส่วนอาญามีแต่เพียงว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ
              ดังนั้น ในการดำเนินคดีแพ่ง ทั้งโจทก์และจำเลยย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่า ใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่ง หรือไม่ เพียงใด เพราะคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๗ วรรคหนึ่ง
              บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดเป็นมูลหนี้ละเมิดขึ้นนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๒ วางหลักไว้ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๒๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ" ข้อสำคัญก็คือว่า ความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร และมาตรา ๔๓๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด"
               ดังนั้น การที่จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ จำเป็นที่โจทก์ต้องพิสูจน์ว่าฝ่ายจำเลยประมาทมากกว่า และโจทก์เสียหายจากการประมาทมากกว่า นั้นอย่างไร เพียงใด
               ศาลชั้นต้นจึงเป็นศาลในคดีส่วนแพ่งมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์จำเลยใครเป็นฝ่ายประมาทมากกว่ากัน ไม่ขัดต่อคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยประมาทมากกว่า และเปรียบเทียบความร้ายแรงแห่งละเมิดที่โจทก์จำเลยต่างก่อขึ้นแล้วกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินรวม ๒๙,๕๐๐ บาท เป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว
                ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยต่อไปว่า ตามพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยมีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น เป็นการก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น ซึ่งได้ยุติไปแล้ว เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์เพื่อให้ได้รับค่าเสียหายมากขึ้น ทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าวจึงเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ที่ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง