วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

หลักการวินิจฉัยคดีจราจรเบื้องต้น

การแสวงหาพยานหลักฐาน
               เมื่อเกิดอุบัติเหตุจราจรทางบกขึ้น ไม่ว่าเกิดจากรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถจักรยาน รถบรรทุก รถโดยสาร ตลอดจนยานพาหนะทางบกทุกชนิด เมื่อเกิดการเฉี่ยวชนกัน หรือชนกับวัตถุอื่นใดในทาง หรือชนคนเดินเท้า คนโดยสาร ก็ตาม ย่อมจะมีผู้ได้รับความเสียหายและมีผู้ขับขี่หรือกระทำโดยประมาท พนักงานสอบสวนมีหน้าที่รับแจ้งเหตุและรวบรวมพยานหลักฐาน โดยบุคคลที่เกี่ยวข้องที่จะต้องมาให้ปากคำแก่พนักงานสอบสวน เช่น ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร และเจ้าของรถ เป็นต้น
               ทั้งนี้ ​กฎหมายให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนมีหน้าที่ทำการสืบสวนสอบสวนคดีอุบัติเหตุจราจรทางบก ด้วยการแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐานไปตามอำนาจหน้าที่ เพื่อจะทราบรายละเอียดแห่งความผิด และรวบรวมพยานหลักฐานตลอดจนการดำเนินการทั้งหลายอื่นซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิด และเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ โดยในคดีจราจรทางบกให้ถือว่ารัฐเป็นผู้เสียหาย
               ดังนั้น เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับแจ้งเหตุคดีจราจร ทำการตรวจสถานที่เกิดเหตุ และรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว พนักงานสอบสวนจะเป็นผู้กล่าวหาในความผิดอาญาดังกล่าวเอง โดยที่คู่กรณีที่พิพาทกันไม่จำต้องเป็นผู้กล่าวหาในคดีจราจรทางบก ส่วนฝ่ายไหนจะเป็นผู้เสียหายหรือเป็นผู้ต้องหา ก็ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยคดีเบื้องต้นของพนักงานสอบสวน โดยจะต้องมีการสืบสวนสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเบื้องต้นก่อนทุกครั้ง
              การแสวงหาเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อเท็จจริงและพยานหลักฐาน สามารถหาได้จากแหล่งข้อมูลดังต่อไปนี้
​               ๑. สถานที่เกิดเหตุ ด้วยการเดินทางไปตรวจสถานที่เกิดเหตุ จะทำให้ทราบเกี่ยวกับรายละเอียด ดังนี้
                  -  ลักษณะของถนน มีสภาพเป็นทางหลวง ทางลูกรัง ทางตรง ทางโค้ง หรือทางร่วมทางแยก มีความกว้าง พื้นผิวถนน ความลาดเอียง เป็นต้น
                  -  ร่องรอยบนถนน มีรอยล้อ รอยยาง รอยครูด รอยเลือด ฝุ่น โคลน เศษวัตถุหรือชิ้นส่วนของรถที่ตกอยู่  เป็นต้น
                  -  ลักษณะเครื่องหมายจราจร สัญญาณไฟจราจร โดยสังเกตจากสัญญาณไฟจราจรสีต่างๆ ในทางร่วมทางแยกแต่ละด้านว่า การเปลี่ยนแปลงใช้ระยะเวลาเท่าใด และให้สัญญาณแก่รถเคลื่อนตัวไปทิศทางใดตามลำดับ ลักษณะป้ายจราจร ป้ายบังคับ ป้ายเตือน ป้ายแนะนำ หรือเครื่องหมายจราจรบนพื้นทางและขอบทางเท้า เส้นแบ่งช่องเดินรถ ทิศทางการเดินรถ เส้นขอบทาง เส้นแนวหยุด เส้นทแยงสำหรับทางแยก และลักษณะลูกศรบนถนนกำหนดทิศทาง เป็นต้น
                  -  สภาพการจราจร  มีรถพลุกพล่าน การจราจรติดขัด ย่านชุมนุมชน เขตก่อสร้าง มีสิ่งกีดขวาง ค่อนข้างเปลี่ยว หรือรถสามารถเคลื่อนด้วยความเร็วได้ เป็นต้น
 ​                 -   ลักษณะภูมิอากาศ มีฝนตก ถนนลื่น ความมืด ความสว่าง มีฝุ่นควัน เป็นต้น
             ​๒. คำให้การของพยานบุคคล ซึ่งจะเล่าให้ทราบถึงรายละเอียดต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนเกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุ มีดังต่อไปนี้
                  -  บุคคลที่เกี่ยวข้องก่อนหรือในขณะเกิดเหตุ ได้แก่ ผู้ขับรถ ผู้โดยสาร ผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำรถ ผู้เห็นเหตุการณ์ ผู้อยู่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุ เป็นต้น
                  -  บุคคลที่เกี่ยวข้องหลังเกิดเหตุ ได้แก่ พนักงานสอบสวน แพทย์ เจ้าพนักงานพิสูจน์หลักฐาน เจ้าของรถ บิดามารดาของผู้เยาว์ ญาติของผู้ตาย เป็นต้น
   ​          ๓. สภาพความเสียหายของรถ ทำให้ทราบลักษณะทิศทางการชนของรถ ความเร็วของรถ ความแรงของการชน สีของรถคันที่ชนติดอยู่ ระดับความสูงต่ำหรือตำแหน่งที่ชนกัน คราบเลือดหรือชิ้นเนื้อ เส้นผมของผู้บาดเจ็บที่ติดอยู่ ร่องรอยความเสียหายของรถแต่ละคันที่ชนกัน ซึ่งเมื่อนำรถคู่กรณีมาวางเทียบตำแหน่งเข้าด้วยกันแล้วพิจารณาประกอบกับร่องรอยบนถนนแล้วจะสามารถบอกทิศทางการชนกันของรถได้
             ๔. ลักษณะอาการบาดเจ็บ ลักษณะของบาดแผลที่เกิดขึ้นกับอวัยวะต่างๆ ของร่างกาย ความรุนแรงจนเกิดการแตกหักของกระดูก รอยถลอก ทำให้ทราบทิศทางการชนของรถ ความเร็วรถ ทิศทางการล้มหรือกระแทกระหว่างร่างกายกับอุปกรณ์ส่วนควบของรถหรือกับพื้นถนน เป็นต้น
             ๕. ผู้เชี่ยวชาญ เป็นผู้ที่มีความรู้ มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ เช่น ในทางวิทยาศาสตร์  การตรวจพิสูจน์หลักฐาน การแพทย์ การช่างซ่อมตัวรถ หรือเครื่องยนต์ของรถ และความเห็นของผู้นั้นอาจมีประโยชน์ในการวินิจฉัยคดีในการสอบสวนหรือพิจารณาคดี
             ๖. แหล่งอื่น ๆ เช่น กล้องวงจรปิดที่ติดตั้งอยู่ตรงทางร่วมทางแยก กล้องวีดิโอติดหน้ารถยนต์ เป็นต้น

วันอาทิตย์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

รถบรรทุกขนาดใหญ่ขับช่องขวาของเดินรถ

              ในทางเดินรถซึ่งได้แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป ผู้ขับรถบรรทุกพ่วง สามารถแซงหรือขับในทางเดินรถด้านขวา ได้หรือไม่

              ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒  ลักษณะ ๓ การใช้ทางเดินรถ  หมวด ๑  การขับรถ
              "มาตรา ๓๔  ในการใช้ทางเดินรถที่ได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป หรือที่ได้จัดช่องเดินรถประจำทางไว้ในช่องเดินรถซ้ายสุด ผู้ขับขี่ต้องขับรถในช่องซ้ายสุดหรือใกล้กับช่องเดินรถประจำทาง เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้ ให้เดินทางขวาของทางเดินรถได้
              (๑) ในช่องเดินรถนั้นมีสิ่งกีดขวางหรือถูกปิดการจราจร
              (๒) ทางเดินรถนั้น เจ้าพนักงานจราจรกำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียว
              (๓) จะต้องเข้าช่องทางให้ถูกต้องเมื่อเข้าบริเวณใกล้ทางร่วมทางแยก
              (๔) เมื่อจะแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น
              (๕) เมื่อผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วสูงกว่ารถในช่องเดินรถด้านซ้าย"

             "มาตรา ๓๕  รถที่มีความเร็วช้าหรือรถที่มีความเร็วต่ำกว่าความเร็วของรถคันอื่นที่ขับในทิศทางเดียวกัน ผู้ขับขี่ต้องขับรถให้ใกล้ขอบทางเดินรถด้านซ้ายเท่าที่จะกระทำได้
              ผู้ขับขี่รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร รถจักรยานยนต์ในทางเดินรถซึ่งได้แบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ ตั้งแต่สองช่องขึ้นไปหรือได้จัดช่องเดินรถประจำทางด้านซ้ายไว้โดยเฉพาะ ต้องขับรถในช่องเดินรถด้านซ้ายสุดหรือใกล้เคียงกับช่องเดินรถประจำทางแล้วแต่กรณี
              ความในวรรคสองมิให้ใช้บังคับแก่รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัม และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์"

หมวด ๒  การขับแซงและผ่านขึ้นหน้า
             "มาตรา ๔๔  ผู้ขับขี่ซึ่งประสงค์จะขับรถแซงเพื่อขึ้นหน้ารถอื่นในทางเดินรถ ซึ่งไม่ได้แบ่งช่องทางเดินรถไว้ ต้องให้สัญญาณโดยกระพริบไฟหน้าหลายครั้ง หรือให้ไฟสัญญาณยกเลี้ยวขวา หรือให้เสียงสัญญาณดังพอที่จะให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถคันหน้าให้สัญญาณตอบตามมาตรา ๓๗ (๓) หรือมาตรา ๓๘ (๓) และเมื่อเห็นว่าไม่เป็นการกีดขวางรถอื่นที่กำลังแซงแล้ว จึงจะแซงขึ้นหน้าได้
             การแซงต้องแซงด้านขวาโดยมีระยะห่างจากรถที่ถูกแซงพอสมควรเมื่อเห็นว่าได้ขับผ่านขึ้นหน้ารถที่ถูกแซงไปในระยะที่ห่างเพียงพอแล้วจึงจะขับชิดด้านซ้ายของทางเดินรถได้"

 *ข้อพิจารณา.- เห็นได้ว่า กฎหมายได้กำหนดวิธีการขับรถในทางเดินรถที่ได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไป โดยให้ผู้ขับขี่รถไม่ว่าเป็นรถประเภทใดก็ต้องขับรถในช่องทางซ้ายสุด(หรือใกล้กับช่องเดินรถประจำทางถ้าหากมีช่องทางเดินรถประจำทางอยู่ทางซ้ายสุด)เท่านั้น เว้นแต่ กรณีช่องทางนั้นถูกปิดหรือมีสิ่งกีดขวาง(ผิวถนนขรุขระเล็กน้อยไม่น่าจะใช่สิ่งกีดขวาง) หรือกรณีทางเดินรถนั้นเจ้าพนักงานกำหนดให้เป็นทางเดินรถทางเดียว หรือกรณีต้องเข้าช่องทางให้ถูกต้องเมื่อเข้าใกล้ทางร่วมทางแยก หรือกรณีเมื่อแซงรถหรือขับรถด้วยความเร็วสูงกว่ารถอื่นที่อยู่ช่องเดินรถด้านซ้ายนั้น ผู้ขับขี่จึงจะมีสิทธิขับรถในช่องทางเดินรถด้านขวาได้ นอกจากนี้ ผู้ขับขี่รถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร หรือรถจักรยานยนต์ ต้องขับรถในช่องเดินรถด้านซ้ายสุด หรือใกล้เคียงกับช่องเดินรถประจำทาง แล้วแต่กรณี โดยรถบรรทุก(ที่ไม่ใช่รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลที่มีน้ำหนักไม่เกินหนึ่งพันหกร้อยกิโลกรัมและรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกินเจ็ดคน) นั้น เห็นว่ารถบรรทุก รถบรรทุกคนโดยสาร และรถจักรยานยนต์ เป็นรถที่มีความเร็วต่ำหรือต้องใช้ความระมัดระวังในการขับขี่มากกว่ารถยนต์ชนิดอื่น จึงกำหนดให้ขับเฉพาะช่องทางด้านซ้ายสุดอยู่เสมอ ทั้งนี้ กฎหมายไม่ได้ห้ามไม่ให้รถบรรทุกดังกล่าวแซงขึ้นหน้ารถคันอื่น หากแต่ว่าเมื่อแซงไปในระยะที่ห่างเพียงพอแล้วก็ให้ขับชิดด้านซ้ายของทางเดินรถตามเดิม พิเคราะห์ได้ว่า เจตนารมณ์ของกฎหมายต้องการให้ผู้ขับขี่ได้รับความสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัยในการเดินรถและไม่เป็นการกีดขวางรถคันอื่นที่จะแซงขึ้นหน้า จึงกำหนดให้ผู้ขับขี่รถทุกชนิดต้องขับรถในช่องทางด้านซ้ายสุดอยู่เสมอ ไม่ว่าจะขับรถด้วยความเร็วสูงสุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ตาม ผู้ขับขี่ก็ไม่สามารถขับรถในทางเดินรถด้านขวาสุดได้ แม้ว่าทางเดินรถนั้นได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่สองช่องขึ้นไปก็ตาม เว้นแต่มีรถที่ช้ากว่าจึงจะแซงรถที่ช้ากว่าได้ แต่เมื่อแซงขึ้นหน้าได้แล้วก็ต้องขับชิดเข้ามาในช่องทางเดินรถซ้ายสุดตามเดิม ส่วนรถบรรทุกที่มีขนาดใหญ่และใช้ความเร็วได้ต่ำกว่ารถอื่น ก็ต้องขับในช่องทางซ้ายสุดอยู่เสมอ ไม่ได้ห้ามไม่ให้แซง แต่ถ้ารถบรรทุกขนาดใหญ่แซงรถอื่นในระยะห่างที่เพียงพอแล้ว ก็ต้องรีบกลับเข้าช่องทางเดินรถด้านซ้ายสุดทันที เพื่อให้รถยนต์อื่นที่ตามหลังมาและความเร็วสูงกว่ามีโอกาสได้แซงรถบรรทุกนั้นด้วย เพราะถ้าหากรถบรรทุกขับอยู่แต่ในช่องทางเดินรถด้านขวานาน ๆ ถึงแม้ว่าผู้ขับขี่จะอ้างว่ากำลังแซงรถที่มีความเร็วต่ำกว่าที่อยู่ในทางเดินรถด้านซ้ายสุดก็ตาม แต่การขับอยู่ในทางเดินรถด้านขวาตลอดเวลาก็อาจจะเป็นการกีดขวางความสะดวกรวดเร็วของรถยนต์คันอื่นที่ตามหลังมาจนไม่สามารถแซงขึ้นหน้ารถบรรทุกนั้นได้เช่นเดียวกัน

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2559

แข่งรถในทางหรือขับรถเมาสุราอาจถูกยึดรถ

คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
              วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งที่ ๔๖/๒๕๕๘ เรื่อง "มาตรการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการขับขี่ยานพาหนะ" เพื่อให้การระงับยับยั้งและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนรำคาญ อันตราย และความเสียหายอันเกิดจากการขับขี่ยานพาหนะ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปและจัดระเบียบสังคม คำสั่งนี้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ เป็นต้นมา และยังไม่มีคำสั่งยกเลิกแม้ว่าจะล่วงเลยเทศกาลปีใหม่มาแล้วก็ตาม อันมีสาระสำคัญ คือ
พฤติการณ์กระทำผิด
              "ในกรณีที่บุคคลมีพฤติการณ์หรือกระทำการดังต่อไปนี้
               (๑)  รวมกลุ่ม หรือมั่วสุม หรือจัดให้มีการรวมกลุ่ม หรือมั่วสุมในลักษณะหรือโดยพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการนำไปสู่การแข่งรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ในทาง อันเป็นความผิดและต้องรับโทษตามกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก"
               (*ข้อพิจารณา.– เพียงแต่เริ่มมีการรวมกลุ่ม และมั่วสุม โดยมีพฤติการณ์ที่น่าจะเป็นการนำไปสู่การแข่งรถ เจ้าพนักงานก็มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมายได้แล้ว)
               "(๒)  ขับขี่รถยนต์โดยสารสาธารณะ รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร หรือรถบรรทุกตั้งแต่หกล้อขึ้นไป โดยประมาท หรือโดยมีปริมาณแอลกอฮอล์ในร่างกายเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นเหตุให้มีบุคคลบาดเจ็บสาหัสหรือถึงแก่ชีวิต"
               (*ข้อพิจารณา.– ต้องเป็นกรณีอุบัติเหตุที่เกิดจากการขับรถ จำนวน ๓ ประเภท คือ รถยนต์โดยสารสาธารณะ รถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ใช้รับจ้างบรรทุกคนโดยสาร และรถบรรทุกตั้งแต่หกล้อขึ้นไป ที่ผู้ขับขี่ได้ขับรถโดยประมาทหรือเมาสุรา แล้วเกิดอุบัติเหตุจนเป็นเหตุให้มีผู้ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตาย)

อำนาจของเจ้าพนักงาน 
                ทั้ง ๒ กรณีข้างต้น  เจ้าพนักงานตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง มีอำนาจดำเนินการ ดังนี้
                (๑)  ยึดใบอนุญาตขับขี่ของผู้ขับขี่ ไว้เป็นการชั่วคราวได้ไม่เกิน ๓๐ วัน
                (๒)  นำรถยนต์และรถจักรยานยนต์ที่สงสัยว่าจะใช้ในการกระทำผิด มาเก็บรักษาไว้เป็นการชั่วคราวไม่น้อยกว่า ๗ วัน (หรือเกินกว่า ๗ วัน) ได้เท่าที่จำเป็นต่อการป้องกันหรือรักษาไว้ซึ่งความปลอดภัยสาธารณะ
                (๓)  จับกุมและควบคุมตัวไว้เพื่ออบรมความประพฤติ เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน แต่ไม่เกิน ๑๕ วัน โดยจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นในลักษณะเป็นผู้ต้องหามิได้
                (*ข้อพิจารณา.- กรณีการรวมกลุ่มเพื่อจะแข่งรถ อาจถูกยึดใบอนุญาตขับขี่หรือถูกยึดรถชั่วคราว และถูกควบคุมตัวแบบไม่ใช่ผู้ต้องหาไว้เพื่ออบรมความประพฤติตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนการขับรถยนต์ทั้ง ๓ ประเภท ก็อาจถูกเจ้าพนักงานตำรวจยึดใบอนุญาตขับขี่และยึดรถได้เช่นกัน ถ้าหากเจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่าขับรถโดยประมาทหรือเมาสุราแล้วเชื่อว่าจะขับไปเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงดังกล่าวข้างต้น

การควบคุมตัว
                ไม่ถือว่าการควบคุมตัวดังกล่าว เป็นการควบคุมตัวผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่เมื่อครบกำหนดระยะเวลาควบคุมตัวแล้ว หากมีเหตุอันจะต้องดำเนินคดีต่อบุคคลที่ถูกควบคุมตัวดังกล่าวในฐานะเป็นผู้ต้องหา ก็ให้ส่งตัวบุคคลนั้นให้พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อดำเนินการต่อไปตามกฎหมาย โดยไม่ให้นับระยะเวลาการควบคุมตัวประมาณ ๗ - ๑๕ วัน เพื่ออบรมความประพฤตินั้น รวมเข้ากับการควบคุมตัวในฐานะผู้ต้องหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

ผู้ประกอบกิจการ
                ในกรณีบุคคลที่ได้ขับรถโดยประมาทหรือเมาสุราก่อให้เกิดอุบัติเหตุจนมีผู้ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความตายข้างต้น เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบก ให้นายทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกมีอำนาจสั่งพักใช้ใบอนุญาตหรือสั่งปิดกิจการนั้นเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้ ไม่เกิน ๑๕ วัน เว้นแต่ผู้ได้รับใบอนุญาตดังกล่าวจะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นและได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วที่จะป้องกันไม่ให้ผู้ขับรถกระทำการดังกล่าว

การคุ้มครองเจ้าพนักงาน
                เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกระทำการไปตามอำนาจหน้าที่ตามคำสั่งนี้โดยสุจริต และไม่เกินสมควรแก่เหตุหรือไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ย่อมได้รับความคุ้มครองตาม มาตรา ๑๗ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘