วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ค่าเสียหายกรณีต่างฝ่ายต่างประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓๙๑/๒๕๕๑
ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๓ , ๔๓๘, ๔๔๒
ป.วิ.อ. มาตรา ๔๖ , ๔๗
              จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเลี้ยวขวาอย่างรวดเร็ว โดยไม่ดูให้ปลอดภัยและไม่ให้สัญญาณใด ในขณะที่โจทก์ขับรถจักรยานยนต์เบียดแซงขึ้นมาโดยไม่ให้สัญญาณใดๆ ทำให้เฉี่ยวชนกันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกสะบ้าด้านขวาและกระดูกหน้าแข้งขวาหักต้องรักษาโดยการผ่าตัด รถจักรยานยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์และจำเลยต่างถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นว่าขับรถด้วยความประมาท โจทก์และจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษทั้งโจทก์และจำเลยแล้ว
              ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๖ ปรากฏว่า ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติในคดีส่วนอาญามีแต่เพียงว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ
              ดังนั้น ในการดำเนินคดีแพ่ง ทั้งโจทก์และจำเลยย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่า ใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่ง หรือไม่ เพียงใด เพราะคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๗ วรรคหนึ่ง
              บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดเป็นมูลหนี้ละเมิดขึ้นนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๒ วางหลักไว้ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๒๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ" ข้อสำคัญก็คือว่า ความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร และมาตรา ๔๓๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด"
               ดังนั้น การที่จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ จำเป็นที่โจทก์ต้องพิสูจน์ว่าฝ่ายจำเลยประมาทมากกว่า และโจทก์เสียหายจากการประมาทมากกว่า นั้นอย่างไร เพียงใด
               ศาลชั้นต้นจึงเป็นศาลในคดีส่วนแพ่งมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์จำเลยใครเป็นฝ่ายประมาทมากกว่ากัน ไม่ขัดต่อคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยประมาทมากกว่า และเปรียบเทียบความร้ายแรงแห่งละเมิดที่โจทก์จำเลยต่างก่อขึ้นแล้วกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินรวม ๒๙,๕๐๐ บาท เป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว
                ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยต่อไปว่า ตามพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยมีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น เป็นการก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น ซึ่งได้ยุติไปแล้ว เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์เพื่อให้ได้รับค่าเสียหายมากขึ้น ทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าวจึงเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ที่ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

รัฐเป็นผู้เสียหายในคดีจราจรทางบก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๖๒๓๕/๒๕๕๑
ป.พ.พ. มาตรา ๘
ป.วิ.อ. มาตรา  ๔๖
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ , ๑๕๗
                การที่จะถือเอาข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาพิพากษาในคดีส่วนแพ่งได้นั้นจะต้องเป็นคดีที่มีมูลกรณีเดียวกันและเป็นคู่ความเดียวกัน ซึ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ คู่ความในคดีส่วนแพ่งก็จะต้องเป็นผู้เสียหายในคดีอาญานั้นด้วย สำหรับคดีอาญาของศาลแขวงสงขลานั้น จำเลยที่ ๑ เคยถูกพนักงานอัยการประจำศาลแขวงสงขลาเป็นโจทก์ฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดฐานขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๑๕๗ ซึ่งความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ในคดีนี้ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีอาญาของศาลแขวงสงขลา เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญาของศาลแขวงสงขลา ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาของศาลแขวงสงขลาจึงไม่ผูกพันโจทก์ในคดีนี้ การพิพากษาคดีส่วนแพ่งในคดีนี้ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
              เหตุสุดวิสัยจะต้องเป็นเรื่องที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้จะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วก็ตาม เหตุที่รถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ ๑ ขับชนรถยนต์คันที่เอาประกันภัยกับโจทก์ไว้นั้น เป็นเพราะลูกปืนล้อรถพ่วงด้านขวาแตกเป็นเหตุให้ล้อรถพ่วงด้านนั้นหลุด รถจึงเสียการทรงตัว ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวรถย่อมมีทั้งที่อยู่ภายนอกและภายใน อุปกรณ์บางชิ้นตรวจสอบได้ด้วยสายตา บางชิ้นเสื่อมสลายไปตามสภาพการใช้งาน ซึ่งล้วนแต่ต้องตรวจตราจากผู้ใช้งานทั้งสิ้นไม่ว่าจะตรวจสอบเองในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะหรือโดยผู้อื่นที่มีหน้าที่ก็ตาม จำเลยที่ ๑ จะอ้างว่าลูกปืนล้อรถเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ภายใน ไม่ใช่หน้าที่ตรวจสอบของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเพียงผู้ขับเท่านั้นไม่ได้ กรณียังถือไม่ได้เหตุดังกล่าวเกิดจากเหตุสุดวิสัย

การเปรียบเทียบปรับที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๙๔๒/๒๕๔๘
ป.อ. มาตรา  ๙๐
ป.วิ.อ. มาตรา ๓๗
                จำเลยขับรถยนต์โดยประมาท ชนท้ายรถยนต์คันที่ผู้เสียหายเป็นผู้ขับอยู่ข้างหน้าในช่องทางเดียวกัน เป็นเหตุให้รถยนต์ของผู้เสียหายได้รับความเสียหายและผู้เสียหายรับอันตรายแก่กาย พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าวโดยผู้เสียหายและจำเลยยินยอม
                การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔), ๑๕๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐
                พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔), ๑๕๗ ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ เพื่อให้ความผิดทั้งหมดรวมทั้งความผิดที่มีโทษหนักกว่าเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๗ ได้
                แม้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วในความผิดฐานดังกล่าวโดยความยินยอมของผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายมิได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ ด้วย ก็ตาม การเปรียบเทียบปรับย่อมไม่ชอบ คดีอาญาไม่เลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๗ ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ได้

จอดรถข้างทางในที่มืด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๓๒๘๔/๒๕๕๒
ป.อ. มาตรา ๒๙๑ , ๓๐๐ , ๓๙๐
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔) , ๖๑ , ๑๕๗
                รถยนต์บรรทุกพ่วงของจำเลยจอดล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถช่องซ้ายโดยไม่มีการให้สัญญาณใด ๆ ในขณะที่ที่เกิดเหตุมืด จึงเป็นการประมาทในลักษณะการงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลเช่นนั้น แต่จำเลยมิได้กระทำ คือ การไม่เปิดสัญญาณไฟกระพริบหรือให้สัญญาณอื่นใด จึงฟังได้ว่าจำเลยมีส่วนร่วมกระทำโดยประมาทด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยว่าที่เกิดเหตุมีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้ในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร จำเลยจึงไม่ต้องเปิดสัญญาณไฟหรือใช้แสงสว่างตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๖๑ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะแสงสว่างในที่เกิดเหตุตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยว่าเห็นได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร จำเลยมิได้นำสืบให้ชัดเจน มีแต่ตัวจำเลยคนเดียวเบิกความลอย ๆ ส่วนบรรดาหลอดไฟที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ยกมาวินิจฉัยก็ไม่มีการนำสืบให้เชื่อได้ว่าขณะเกิดเหตุได้เปิดอยู่ทุกดวงหรือไม่ และระยะทางของดวงไฟอยู่ห่างที่เกิดเหตุในลักษณะจะให้แสงสว่างได้ขนาดนั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ คาดหมายเอาเท่านั้น อีกทั้งขัดแย้งกับความสมด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฟังขึ้น
               เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่นายคำมูลขับรถยนต์บรรทุกหกล้อพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงคันที่จำเลยขับ ซึ่งจอดอยู่ริมถนนมิตรภาพ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส และได้รับอันตรายแก่กาย เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่ไม่เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างของรถให้นายคำมูลซึ่งขับรถยนต์บรรทุกหกล้อมาทางด้านหลัง สามารถมองเห็นรถยนต์บรรทุกพ่วงคันที่จำเลยจอดไว้ในระยะห่างเพียงพอที่นายคำมูลจะหยุดรถหรือหลบหลีกไปได้ การที่นายคำมูลขับรถยนต์บรรทุกหกล้อชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลย ที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถของจำเลยไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔) , ๑๕๗ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

*ข้อพิจารณา.- จอดรถในที่มืดไม่ใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถ จึงมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ แต่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา)