วันพุธที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2558

ถือโทรศัพท์ขณะที่รถติดไฟแดง

               การหยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดงนั้น ยังอยู่ในความหมายของการขับรถ เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายกำหนดให้ ผู้ขับขี่ซึ่งควบคุมรถอยู่ในทางเดินรถ จะต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรและเครื่องหมายจราจร ซึ่งรวมถึงการหยุดรถหลังเส้นให้รถหยุด เพื่อรอสัญญาณไฟจราจรด้วย
               ดังนั้น การหยุดรถเพื่อรอสัญญาณไฟจราจร จึงเป็นเพียงการปฏิบัติตามเครื่องหมายจราจรเท่านั้น โดยผู้ขับขี่ยังคงต้องควบคุมรถและปฏิบัติตามสัญญาณไฟจราจรต่อไป
               การคุ้มครองความปลอดภัยสำหรับผู้ใช้รถใช้ถนน มาตรา ๔๓ (๙) แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ กำหนดห้ามผู้ขับขี่ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะขับรถ โดยกำหนดข้อยกเว้นไว้กรณีเดียว คือ กรณีใช้งานโดยผ่านอุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น
               เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวประสงค์ ห้ามการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะที่ควบคุมรถอยู่ในทางเดินรถ ไม่ว่ารถดังกล่าวจะอยู่ในระหว่างการเคลื่อนที่ หรืออยู่ระหว่างการหยุดรถตามสัญญาณจราจร โดยยกเว้นไว้เฉพาะการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้อุปกรณ์เสริมสำหรับการสนทนา โดยผู้ขับขี่ไม่ต้องถือหรือจับโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น
               ฉะนั้น การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะที่หยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดง โดยไม่ใช้อุปกรณ์เสริมตามข้อยกเว้นดังกล่าว จึงเป็นการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในระหว่างการขับรถและเป็นความผิดตามกฎหมาย
(*ที่มา.- บันทึกสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในขณะหยุดรถตามสัญญาณจราจรไฟสีแดง เรื่องเสร็จที่ ๑๑๘๑/๒๕๕๘)

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

รถฉุกเฉิน

รถฉุกเฉิน 
ตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522
 
              "มาตรา 4 (19)  ให้นิยามคำว่า "รถฉุกเฉิน" หมายความว่า รถดับเพลิง และรถพยาบาลของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือรถอื่นที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี(หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ)ให้ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่จะกำหนดให้"

รถฉุกเฉินจะต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือก่อน

             "มาตรา 13  ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถทุกชนิดในทางเดินรถใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ เสียงสัญญาณไซเรน เสียงสัญญาณที่เป็นเสียงนกหวีดเสียงที่แตกพร่า เสียงหลายเสียง เสียงดังเกินสมควร หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
              อธิบดีมีอำนาจอนุญาตให้รถฉุกเฉิน รถในราชการทหารหรือตำรวจหรือรถอื่นใช้ไฟสัญญาณวับวาบหรือใช้เสียงสัญญาณไซเรนหรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นได้ ในการนี้อธิบดีจะกำหนดเงื่อนไขในการใช้ไฟสัญญาณหรือเสียงสัญญาณรวมทั้งกำหนดเครื่องหมายที่แสดงถึงลักษณะของรถดังกล่าวด้วยก็ได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สิทธิของผู้ขับขี่รถฉุกเฉิน

              "มาตรา 75  ในขณะที่ผู้ขับขี่รถฉุกเฉินไปปฏิบัติหน้าที่ ผู้ขับขี่มีสิทธิดังนี้
                  (1)  ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่อธิบดีกำหนดไว้
                 (2)  หยุดรถหรือจอดรถ ณ ที่ห้ามจอดรถ
                 (3)  ขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้
                 (4)  ขับรถผ่านสัญญาณจราจร หรือเครื่องหมายจราจรใด ๆ ที่ให้รถหยุด แต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควร
                 (5)  ไม่ต้องปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัติ หรือข้อบังคับการจราจรเกี่ยวกับช่องเดินรถ ทิศทางของการขับรถหรือการเลี้ยวที่กำหนดไว้
                 ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี"

              "มาตรา 76  เมื่อคนเดินเท้า ผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์เห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่อธิบดีกำหนดไว้ คนเดินเท้า ผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ ต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อน โดยปฏิบัติดังต่อไปนี้
                  (1)  สำหรับคนเดินเท้าต้องหยุดและหลบให้ชิดขอบทาง หรือขึ้นไปบนทางเขตปลอดภัย หรือไหล่ทางที่ใกล้ที่สุด
                  (2)  สำหรับผู้ขับขี่ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้าย หรือในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถ ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดช่องเดินรถประจำทาง แต่ห้ามหยุดรถหรือจอดรถในทางร่วมทางแยก
                  (3)  สำหรับผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ ต้องบังคับสัตว์ให้หยุดชิดทาง แต่ห้ามหยุดในทางร่วมทางแยก
                ในการปฏิบัติตาม (2) และ (3) ผู้ขับขี่และผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องรีบกระทำโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้และต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี

              "มาตรา 127  ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ
                  (1)  ตามหลังรถฉุกเฉินซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ในระยะต่ำกว่าห้าสิบเมตร

วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2558

ปริมาณแอลกอฮอล์กับความประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  2803/2550
ป.อ. มาตรา 56, 59 วรรคสี่, 63, 291
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43(4), 157

              จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อบรรทุกทรายเต็มคันรถ ในเขตชุมชนใกล้ทางแยกเข้าหมู่บ้าน ตามหลังรถยนต์กระบะ ไปตามถนนที่แบ่งเป็น 2 ช่องจราจรแล่นสวนกัน จำเลยที่ 1 ควรใช้ความเร็วต่ำและเว้นระยะให้ห่างมากพอที่จะหยุดรถได้ทัน โดยไม่ให้ชนรถคันหน้า ยิ่งมีฝนตกและเป็นเวลากลางคืน จำเลยที่ 1 ควรต้องระมัดระวังเว้นระยะให้ห่างมากขึ้น 
              การที่จำเลยที่ 1 ต้องหักหลบไปทางขวา เมื่อรถยนต์กระบะต้องหยุดรถ เพราะมีรถยนต์ออกจากปั๊มน้ำมัน ก็เกิดจากจำเลยที่ 1 เกรงว่าจะหยุดไม่ทันเนื่องจากรถที่จำเลยที่ 1 ขับบรรทุกของหนัก การหักหลบไปทางขวาเป็นเครื่องแสดงอยู่ในตัวว่ารถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับจะต้องใช้ความเร็วสูง ทั้งไม่เว้นระยะให้ห่างรถยนต์กระบะซึ่งขับอยู่ข้างหน้า ให้อยู่ในระยะที่สามารถหยุดรถได้ทันที รถของจำเลยที่ 1 จึงล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่ผู้ตายขับรถยนต์สวนมา และเกิดเหตุชนกับรถที่ผู้ตายขับในช่องเดินรถของผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย 
              การที่ผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นผลโดยตรงจากการขับรถโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นจำเลยที่ 1 จักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และจำเลยที่ 1 อาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่ จึงเป็นการขับรถโดยประมาทและกระทำโดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (4), 78 วรรคหนึ่ง, 157, 160 วรรคหนึ่ง และวรรคสาม และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 291
              แม้จะมีรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 2 ขับตามหลังมาไม่สามารถหยุดรถได้ทันเมื่อจำเลยที่ 1 หยุดรถกะทันหัน ได้ชนท้ายรถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับ ก็หามีผลทำให้การกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิด และการขับรถยนต์ประมาทของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวไม่ตัดความสัมพันธ์ระหว่างการกระทำและผลที่จำเลยที่ 1 ก่อขึ้นแก่ผู้ตาย
             ส่วนกรณีที่แพทย์ตรวจพบแอลกอฮอล์ 0.239 กรัมเปอร์เซ็นต์ ในศพผู้ตาย ซึ่งปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดระดับนี้มีผลต่อร่างกายทำให้การตัดสินใจผิดพลาดได้นั้น เมื่อข้อเท็จจริงตามที่ได้วินิจฉัยมาฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อหักหลบรถยนต์กระบะที่ต้องหยุดรถกะทันหัน เป็นเหตุให้รถยนต์บรรทุกสิบล้อที่จำเลยที่ 1 ขับล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถที่ผู้ตายขับสวนมา จึงเกิดชนกันในช่องเดินรถที่ผู้ตายขับมา 
             จึงเห็นได้ว่า ผู้ตายมิได้มีส่วนประมาทก่อให้เกิดเหตุชนกันขึ้น ไม่ว่าจะมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดตามปริมาณที่ตรวจพบหรือไม่ ก็ไม่อาจทำให้ผู้ตายหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุชนกันได้ จึงไม่อาจทำให้จำเลยที่ 1 พ้นผิดไปได้ 
              ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาในทำนองขอให้พิจารณาถึงเหตุบรรเทาโทษ เพื่อลงโทษให้เหมาะสมและขอให้รอการลงโทษด้วยนั้น เห็นว่า ศาลล่างทั้งสองได้พิจารณาถึงเหตุบรรเทาโทษและลดโทษให้จำเลยที่ 1 หนึ่งในสามแล้ว โทษที่ศาลล่างทั้งสองลงแก่จำเลยที่ 1 เหมาะสมแก่พฤติการณ์แห่งคดีแล้ว และกรณีไม่อาจรอการลงโทษให้แก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ได้