วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

รถฉุกเฉิน

รถฉุกเฉิน 
ตาม พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522
 
              "มาตรา 4 (19)  ให้นิยามคำว่า "รถฉุกเฉิน" หมายความว่า รถดับเพลิง และรถพยาบาลของราชการบริหารส่วนกลาง ราชการบริหารส่วนภูมิภาค และราชการบริหารส่วนท้องถิ่น หรือรถอื่นที่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี(หรือผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ)ให้ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือให้ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่จะกำหนดให้"

รถฉุกเฉินจะต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือก่อน

             "มาตรา 13  ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ซึ่งขับรถทุกชนิดในทางเดินรถใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ เสียงสัญญาณไซเรน เสียงสัญญาณที่เป็นเสียงนกหวีดเสียงที่แตกพร่า เสียงหลายเสียง เสียงดังเกินสมควร หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา
              อธิบดีมีอำนาจอนุญาตให้รถฉุกเฉิน รถในราชการทหารหรือตำรวจหรือรถอื่นใช้ไฟสัญญาณวับวาบหรือใช้เสียงสัญญาณไซเรนหรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นได้ ในการนี้อธิบดีจะกำหนดเงื่อนไขในการใช้ไฟสัญญาณหรือเสียงสัญญาณรวมทั้งกำหนดเครื่องหมายที่แสดงถึงลักษณะของรถดังกล่าวด้วยก็ได้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา

สิทธิของผู้ขับขี่รถฉุกเฉิน

              "มาตรา 75  ในขณะที่ผู้ขับขี่รถฉุกเฉินไปปฏิบัติหน้าที่ ผู้ขับขี่มีสิทธิดังนี้
                  (1)  ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ ใช้เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่อธิบดีกำหนดไว้
                 (2)  หยุดรถหรือจอดรถ ณ ที่ห้ามจอดรถ
                 (3)  ขับรถเกินอัตราความเร็วที่กำหนดไว้
                 (4)  ขับรถผ่านสัญญาณจราจร หรือเครื่องหมายจราจรใด ๆ ที่ให้รถหยุด แต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควร
                 (5)  ไม่ต้องปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัติ หรือข้อบังคับการจราจรเกี่ยวกับช่องเดินรถ ทิศทางของการขับรถหรือการเลี้ยวที่กำหนดไว้
                 ในการปฏิบัติตามวรรคหนึ่ง ผู้ขับขี่ต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี"

              "มาตรา 76  เมื่อคนเดินเท้า ผู้ขับขี่ หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์เห็นรถฉุกเฉินในขณะปฏิบัติหน้าที่ ใช้ไฟสัญญาณแสงวับวาบ หรือได้ยินเสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นตามที่อธิบดีกำหนดไว้ คนเดินเท้า ผู้ขับขี่หรือผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ ต้องให้รถฉุกเฉินผ่านไปก่อน โดยปฏิบัติดังต่อไปนี้
                  (1)  สำหรับคนเดินเท้าต้องหยุดและหลบให้ชิดขอบทาง หรือขึ้นไปบนทางเขตปลอดภัย หรือไหล่ทางที่ใกล้ที่สุด
                  (2)  สำหรับผู้ขับขี่ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดขอบทางด้านซ้าย หรือในกรณีที่มีช่องเดินรถประจำทางอยู่ทางด้านซ้ายสุดของทางเดินรถ ต้องหยุดรถหรือจอดรถให้อยู่ชิดช่องเดินรถประจำทาง แต่ห้ามหยุดรถหรือจอดรถในทางร่วมทางแยก
                  (3)  สำหรับผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ ต้องบังคับสัตว์ให้หยุดชิดทาง แต่ห้ามหยุดในทางร่วมทางแยก
                ในการปฏิบัติตาม (2) และ (3) ผู้ขับขี่และผู้ขี่หรือควบคุมสัตว์ต้องรีบกระทำโดยเร็วที่สุดเท่าที่จะกระทำได้และต้องใช้ความระมัดระวังตามควรแก่กรณี

              "มาตรา 127  ห้ามมิให้ผู้ขับขี่ขับรถ
                  (1)  ตามหลังรถฉุกเฉินซึ่งกำลังปฏิบัติหน้าที่ในระยะต่ำกว่าห้าสิบเมตร

(*ข้อคิดเห็น.-  กล่าวโดยสรุป ผู้ขับขี่รถฉุกเฉินมีสิทธิตามมาตรา 75 ถือว่ามากกว่าผู้ขับขี่รถทั่วไป เฉพาะเวลาขับรถในขณะปฏิบัติหน้าที่มีเหตุฉุกเฉินเท่านั้น เช่น ใช้สัญญาณไฟและเสียง หยุดรถในที่ห้ามจอด ขับรถเร็ว ขับผ่านเครื่องหมายจราจรให้หยุด การเปลี่ยนช่องทางและเลี้ยวรถ แต่ถ้าไม่มีเหตุที่จะต้องไปปฏิบัติหน้าที่ผู้ขับรถต้องปฏิบัติตามกฎหมายเช่นเดียวกับผู้ขับรถทั่วไป แต่ทั้งนี้ การขับรถไปปฏิบัติหน้าที่ต้องลดความเร็วตรงที่มีเครื่องหมายจราจรให้หยุด และในทุกสถานการณ์ต้องใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่กรณีด้วย ไม่เช่นนั้นก็อาจจะมีส่วนในการขับรถโดยประมาทเช่นกัน ส่วนมาตรา 76 ผู้ที่เห็นรถฉุกเฉินจะต้องรีบหลบหลีก หยุดหรือจอดรถชิดขอบทางที่ไม่ใช่ทางร่วมทางแยกเพื่อให้รถฉุกเฉินผ่านไปโดยสะดวก อีกทั้ง มาตรา 127 จะต้องไม่ขับรถติดตามรถฉุกเฉินในระยะต่ำกว่า 50 เมตร)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7941/2556
ป.พ.พ. มาตรา 420 , 442
            คดีนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสืบว่า ระหว่างจำเลยที่ 1 ขับรถตู้คันเกิดเหตุนำ จ. จากโรงพยาบาลตาลสุม ไปส่งโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จำเลยที่ 1 เปิดสัญญาณไฟวับวาบ ไซเรน และไฟกะพริบตลอดทาง โจทก์ไม่นำสืบโต้แย้งข้อเท็จจริงดังกล่าว เพียงแต่อ้างว่าโจทก์ได้รับสัญญาณไฟจราจรสีเขียว จึงขับรถเข้าไปในสี่แยกที่เกิดเหตุ กรณีจึงเชื่อว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถตู้มาถึงสี่แยกที่เกิดเหตุได้ใช้สัญญาณไฟวับวาบ ไซเรน และเปิดไฟกะพริบ ซึ่งสัญญาณดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่โจทก์จะรับรู้และเข้าใจได้ว่าเป็นรถฉุกเฉิน และผู้ที่ขับรถฉุกเฉินจะต้องขับรถด้วยความเร่งรีบ ทั้งโจทก์เองก็อ้างว่าเพิ่งออกจากบ้านซึ่งอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 100 เมตร กำลังจะไปสนามกีฬาซึ่งอยู่ห่างออกไป 1 กิโลเมตร ก็ควรที่จะชะลอความเร็วรถลงเพื่อเปิดโอกาสให้รถที่มีเหตุจำเป็นฉุกเฉินผ่านไปก่อน
            การที่โจทก์ไม่ชะลอความเร็วรถลงหรือหยุดรถ จนเป็นเหตุให้เฉี่ยวชนกับรถยนต์ตู้คันเกิดเหตุที่เป็นรถฉุกเฉิน ซึ่งลักษณะการชนตามภาพเป็นลักษณะที่รถยนต์ของโจทก์พุ่งเข้าชนรถตู้ แสดงให้เห็นว่าโจทก์มีส่วนขับรถด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังเช่นกัน ความเสียหายที่เกิดขึ้นจึงเกิดจากโจทก์เป็นผู้ก่อด้วยไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าจำเลยที่ 1
(ข้อคิดเห็น - จำเลยที่ 1 ขับรถฉุกเฉินผ่านสี่แยกโดยประมาท แม้โจทก์ได้สัญญาณไฟสีเขียว แต่ก็ไม่ชะลอความเร็ว เมื่อชนกัน โจทก์ก็มีส่วนประมาทด้วย)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  8155/2555
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 , 157
ป.อ. มาตรา 291
ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
             คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย ฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตายและทรัพย์สินเสียหายตาม ป.อ. มาตรา 291 และ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 157 โดยบรรยายถึงการกระทำโดยประมาทของจำเลยว่า ก่อนจำเลยขับรถเข้าทางร่วมทางแยกที่เกิดเหตุ สัญญาณจราจรในทางเดินรถของจำเลยเป็นสัญญาณจราจรไฟสีแดง จำเลยต้องหยุดรถเพื่อให้รถอื่นที่ได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวขับผ่านทางร่วมแยกไปก่อน และเมื่อทางเดินรถของจำเลยได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียวแล้ว จึงค่อยขับรถเข้าทางร่วมทางแยก แต่จำเลยขาดความระมัดระวังขับเลี้ยวขวาโดยฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดง เฉี่ยวชนกับรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับมาในทางร่วมทางแยก ซึ่งผู้ตายได้รับสัญญาณจราจรไฟสีเขียว เป็นการบรรยายฟ้องโดยอ้างเหตุประมาทว่า จำเลยขับรถเข้าทางร่วมทางแยกโดยฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงเท่านั้น
            แต่ทางพิจารณาได้ความว่า รถคันที่จำเลยขับเป็นรถพยาบาลของทางราชการ ซึ่งจำเลยได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ขับรถนำผู้ป่วยไปส่งยังโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง โดยขณะเกิดเหตุจำเลยเปิดไฟหน้ารถและเปิดสัญญาณไฟขอทางบนหลังคารถอันเป็นรถฉุกเฉินตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 4 (19) ซึ่งจำเลยผู้ขับย่อมมีสิทธิขับรถผ่านสัญญาณจราจรหรือเครื่องหมายจราจรใด ๆ ที่ให้รถหยุดได้ เพียงแต่ต้องลดความเร็วของรถให้ช้าลงตามสมควรแก่กรณี ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 75 (4) วรรคหนึ่งและวรรคสอง จำเลยซึ่งขับรถฉุกเฉินจึงมีสิทธิขับรถผ่านสัญญาณจราจรไฟสีแดงได้ เมื่อโจทก์บรรยายฟ้องแต่เพียงว่าจำเลยขับรถโดยประมาทฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงเท่านั้น ไม่ได้บรรยายถึงข้อเท็จจริงตามบทบัญญัติดังกล่าวให้เป็นพฤติการณ์ที่แสดงถึงการขับรถโดยประมาทของจำเลยไว้ด้วย แม้จะฟังว่าจำเลยขับรถผ่านสัญญาณจราจรไฟสีแดงโดยมิได้ลดความเร็วให้ช้าลงและมิได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควร ศาลก็ไม่อาจลงโทษจำเลยได้เพราะไม่ใช่การกระทำโดยประมาทตามที่โจทก์ฟ้องตาม ป.วิ.อ. มาตรา 192 วรรคหนึ่ง
(ข้อคิดเห็น - จำเลยขับรถฉุกเฉินผ่านทางแยกโดยฝ่าฝืนสัญญาณไฟสีแดง แต่โจทก์ไม่บรรยายฟ้องการขับรถโดยไม่ใช้ความระมัดระวังตามสมควรไปด้วย ศาลจึงไม่อาจลงโทษจำเลยได้)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  619/2510 
ป.พ.พ. มาตรา 420 , 437
           จำเลยขับรถยนต์ในราชการตำรวจไปตามถนนโดยใช้สัญญาณไฟแดงกระพริบและแตรไซเรนเพื่อนำคนประสพอุบัติเหตุส่งโรงพยาบาล การขับรถโดยใช้สัญญาณดังกล่าวมิได้หมายความว่า ขับได้เร็วเท่าใดก็ไม่เป็นการละเมิดหากเกิดการเสียหายขึ้น แต่จะต้องขับด้วยความเร็วไม่สูงเกินกว่าที่ควรกระทำในพฤติการณ์เช่นนั้น และต้องใช้ความระมัดระวังในฐานะที่ต้องใช้ความเร็วสูงกว่าธรรมดาตามสมควรแก่พฤติการณ์เช่นนั้นด้วย
           จำเลยขับรถใช้อาณัติสัญญาณไฟแดงกระพริบและเปิดแตรไซเรนมาด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เมื่อจะขึ้นสะพานลดลงเหลือ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีรถบรรทุกแล่นสวนมาบนสะพานโดยไม่หยุด และมีเด็กวิ่งข้ามถนนตัดท้ายรถบรรทุกมาในระยะกระชั้นชิดซึ่งจำเลยไม่สามารถหยุดรถได้ทัน จึงต้องหักหลบแล้วไปชนผู้ตาย ถือได้ว่าความเร็วที่จำเลยใช้ในขณะข้ามสะพานไม่เป็นความเร็วที่เกินสมควรตามเวลา สถานที่ และพฤติการณ์อื่น ๆ ในขณะนั้น จึงไม่เป็นการประมาทเลินเล่อ การที่มีเด็กวิ่งตัดหลัง รถบรรทุกข้ามถนนผ่านหน้ารถจำเลยในระยะใกล้เป็นเหตุบังเอิญ มิอาจคาดหมายได้ และเกิดขึ้นโดยฉับพลันเป็นเหตุที่ไม่มีใครป้องกันได้เมื่อจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จาก บุคคลในฐานะที่ประสบเหตุเช่นนั้นแล้ว เหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นเหตุสุดวิสัย จำเลยไม่ต้องรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 437

*เอกสารที่เกี่ยวข้อง 
-  ข้อกำหนดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดเงื่อนไขในการใช้ไฟสัญญาณวับวาบ เสียงสัญญาณไซเรน หรือเสียงสัญญาณอย่างอื่นและเครื่องหมายแสดงลักษณะของรถฉุกเฉิน ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2546 (Link)
-  ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตใช้ไฟสัญญาณวับวาบและเสียงสัญญาณ  ลงวันที่ 2 พฤษภาคม 2546 (Link)
-  ประกาศสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตใช้ไฟสัญญาณวับวาบและเสียงสัญญาณ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2548 ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2548 (Link)
-  ประกาศสํานักงานตํารวจแห่งชาติ เรื่อง กําหนดหลักเกณฑ์การขออนุญาตใช้ไฟสัญญาณวับวาบ และเสียงสัญญาณ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2553 (Link)

          สาระสำคัญ  (ประกาศฯ ฉบับที่ 3)  
          ข้อ 6 รถบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 
                   6.1 เป็นรถที่ได้รับรองมาตรฐานจากสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และหนังสือรับรองมาตรฐานยังไม่หมดอายุในวันที่ยื่นเรื่องขออนุญาตตามประกาศฉบับนี้ 
                   6.2 การขออนุญาตในกรุงเทพมหานคร ให้ยื่นหนังสือร้องขอต่อผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจจราจร ในจังหวัดอื่น ให้ยื่นหนังสือร้องขอต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด พิจารณามีความเห็นเสนอผู้มีอำนาจอนุญาตโดยมีหลักฐาน ดังนี้ 
                        6.2.1 คำร้องขออนุญาตที่ผ่านการเห็นชอบของปลัดกระทรวงสาธารณสุขหรือเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ
                        6.2.2 สำเนาภาพถ่ายใบคู่มือการจดทะเบียนรถหนึ่งฉบับ 
                   6.3 ให้ผู้มีอำนาจอนุญาตอนุญาตได้เป็นระยะเวลาเท่ากับระยะเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือรับรองมาตรฐานของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ


(Update 3/15/2023)