วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิธีทำแผนที่แสดงสัญญาณไฟจราจร

               เมื่อมีอุบัติเหตุรถชนกันขึ้นบริเวณทางร่วมทางแยก พนักงานสอบสวนจะจัดทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุขึ้นฉบับหนึ่ง ประกอบไปด้วย รูปวาดช่องทางเดินรถ เครื่องหมายบนพื้นทาง ป้ายจราจร รูปวาดตำแหน่งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ศพผู้ตาย ร่องรอยบนพื้นถนน รอยครูด รอยยางรถ ทิศทางการเดินรถ ทิศทางการขับรถของคู่กรณี ระยะห่างของรถคู่กรณี ระยะห่างจากขอบทาง ระยะห่างจากจุดสำคัญต่าง ๆ ตลอดจนอาคารบ้านเรือน ต้นไม้ หลักกั้นทางโค้ง ฯลฯ วาดเขียนลงในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุดังกล่าว
              แต่กรณีที่เกิดเหตุเป็นทางร่วมทางแยกที่มีสัญญาณไฟจราจร การวินิจฉัยคดีจึงต้องถือสัญญาณจราจรเป็นหลัก จะนำหลักของทางเอกทางโทมาใช้วินิจฉัยย่อมไม่ได้  เมื่อสอบถามคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่า ฝ่ายตนได้รับสัณญาณจราจรไฟสีเขียวด้วยกันทั้งคู่ ประกอบกับทางแยกที่เกิดเหตุไม่มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดมาเปิดให้ดูย้อนหลังว่าฝ่ายใดฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรด้วยแล้ว การวินิจฉัยคดีเบื้องต้นย่อมจะพิจารณาได้ค่อนข้างลำบากว่าฝ่ายใดที่ให้การเท็จหรือไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง
              ดังนั้น จึงมีข้อแนะนำแก่พนักงานสอบสวนที่ทำหน้าที่วินิจฉัยคดีว่าฝ่ายใดพูดความจริงมากกว่ากัน โดยต้องเดินทางไปตรวจดูการเปิด-ปิดสัญญาณจราจรไฟสีต่าง ๆ ทุกด้านของทางร่วมทางแยกนั้น แล้ววาดเขียนแผนที่สัญญาณไฟจราจรขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งสำหรับประกอบแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุที่จัดทำขึ้นตามปกติข้างต้น รวมเข้าไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย
              แผนที่แสดงสัญญาณไฟจราจร นี้จะแสดงให้เห็นว่า ในทางร่วมทางแยกมีการให้สัญญาณแก่รถในทางแต่ละด้านเคลื่อนผ่านทางร่วมทางแยก ก่อน-หลัง เรียงตามลำดับกันอย่างไร  เพราะทางแยกบางแห่งมีการให้สัญญาณรถตรงไป หรือเลี้ยวรถแตกต่างกันกับอีกแห่งหนึ่งตามความประสงค์ของนักวิศวกรรมจราจรที่ท่านเห็นว่าเหมาะสม (ซึ่งบางแห่งก็ไม่เหมาะสมเพราะทำให้รถเกิดอุบัติเหตุชนกันบ่อย ซึ่งผู้เขียนเคยทำหนังสือนำเรียนไปยังแขวงการทางจังหวัดให้ปรับเปลี่ยนการเปิดสัญญาณไฟจราจรของทางแยกบางแห่งมาแล้ว ซึ่งหลังจากปรับเปลี่ยนการเปิดสัญญาณไฟแบบใหม่ปรากฏว่าอุบัติเหตุลดลงได้จริง) ยกตัวอย่างเช่น บางแห่งให้สัญญาณรถเคลื่อนไปทีละด้านจนครบทุกด้าน บางแห่งก็ให้สัญญาณรถขับตรงไปในลักษณะสวนกันก่อนแล้วค่อยให้สัญญาณเลี้ยวรถในภายหลัง ก็มี
              นอกจากนี้ การระบุระยะเวลาของการให้สัญญาณไฟสีเขียว สีเหลือง สีแดง ซึ่งเรียงตามลำดับแก่ทางเดินรถแต่ละด้านว่าใช้เวลากี่วินาที จะทำให้รู้ว่า ทางเดินรถแต่ละด้านมีช่วงเวลาเดินรถจำกัดเพียงใด เพราะบางครั้ง ทางเดินรถแต่ละด้านจะมีระยะเวลาการเดินรถผ่านทางร่วมทางแยกไปไม่เท่ากัน เราจะพบว่าเส้นทางสายหลักที่มีปริมาณรถจำนวนมาก สัญญาณจราจรไฟสีเขียวจะมีเวลาเดินรถมากกว่าเส้นทางสายรองที่มีปริมาณรถน้อยกว่า เป็นต้น
             การสังเกตระยะเวลาและทิศทางปรับเปลี่ยนของสัญญาณจราจรไฟสีต่างๆ ในแต่ละด้าน จะทำให้เราทราบว่า ขณะเกิดเหตุรถในช่องทางใด หยุดรอสัญญาณจราจรไฟสีแดงบ้าง ในขณะที่อีกช่องทางหนึ่งได้รับสัญญาณไฟสีเขียวให้เคลื่อนผ่านทางร่วมทางแยกไปได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุที่ทำไว้เป็นฉบับที่มีจุดชน รอยชน รอยครูด หรือรอยยางแล้ว ทำให้รู้ได้ว่า รถคันไหนน่าจะฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรสีแดง คู่กรณีฝ่ายใดน่าจะให้การตามความเป็นจริง ฝ่ายใดให้การเท็จ ซึ่งจะทำให้พนักงานสอบสวนสามารถซักถามตามความเป็นจริง และง่ายต่อการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายเสียเปรียบหรือเป็นฝ่ายก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น