วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ข้อสันนิษฐาน ขับรถในขณะเมาสุรา (ถ้าไม่ยอมให้ทดสอบ)


              ให้เพิ่มเติม วรรคสาม ของมาตรา ๒๔  แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒  ดังนี้
              "การแสดงสัญญาณจราจรของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรานี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะใช้ไฟฉายเรืองแสง หรืออุปกรณ์เรืองแสงอื่นด้วยก็ได้"

*ข้อพิจารณา บทบัญญัติเดิมของมาตรา ๒๔ เป็นเรื่องที่ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรที่พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงให้ปรากฎข้างหน้า ซึ่งว่าด้วยเรื่องของสัญญาณมือ ส่วนกฎหมายที่เพิ่มเติมใหม่โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ใช้ไฟฉายเรืองแสงหรืออุปกรณ์เรืองแสงในเวลากลางคืน ประกอบสัญญาณมืออีกด้วย ก็ได้
----------------------------------
             ให้ยกเลิก มาตรา ๑๔๒ แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งเดิมบัญญัติว่า
             "เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถ ในเมื่อ
               (๑) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖
               (๒) เห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ
               ในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๑) หรือ (๒) ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่า หย่อนความสามารถในอันที่จะขับ หรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หรือไม่
               ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกักตัวผู้นั้นไว้ดำเนินการทดสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จำเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว และเมื่อผู้นั้นยอมให้ทดสอบแล้ว หากผลการทดสอบปรากฏว่าไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๑) หรือ (๒) ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
               การทดสอบตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"

               และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา ๑๔๒
               "เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถ ในเมื่อ
               (๑) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖
               (๒) เห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้น ได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ
               ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๑) หรือ (๒) ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่
               ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกักตัวผู้นั้นไว้ดำเนินการทดสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จำเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว และเมื่อผู้นั้นยอมให้ทดสอบแล้ว หากผลการทดสอบปรากฏว่าไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๑) หรือ (๒) ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
               ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่า ผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้นยังไม่ยอมทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๒)
               การทดสอบตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"

*ข้อพิจารณา.-  กฎหมายใหม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้  
               -  กฎหมายใช้คำว่า "กรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนฯ" แทนคำว่า "เมื่อเห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นได้ฝ่าฝืนฯ" แสดงว่า เจ้าพนักงานสามารถใช้ดุลยพินิจที่จะสั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ได้ ถ้าปรากฏว่าผู้ขับขี่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าเป็นผู้ขับขี่และเมาสุราแล้วขับรถหรือหย่อนความสามารถ เจ้าพนักงานก็สามารถสั่งให้มีการทดสอบได้แล้ว ซึ่งกฎหมายเดิมเจ้าพนักงานต้องเห็นว่าผู้นั้นกำลังขับรถและขับในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ หรือในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ตามมาตรา ๔๓ (๑) , (๒) จึงจะสั่งให้มีการทดสอบได้
               -  กรณีผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบ เจ้าพนักงานมีอำนาจกักตัวไว้เพื่อดำเนินการทดสอบได้ ระยะเวลากักตัวนั้นไม่กำหนดแน่ชัดว่ากี่ชั่วโมง แต่กฎหมายบัญญัติว่าได้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว ถ้ายอมให้ทดสอบแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
               -  ตามมาตรา ๑๔๒ วรรคสอง ให้อำนาจพนักงานสอบสวนซึ่งปฏิบัติหน้าที่สอบสวนอยู่ในที่ทำการพนักงานสอบสวนสั่งให้มีการทดสอบได้ด้วย แม้ว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้เป็นผู้สั่งให้หยุดรถตามมาตรา ๑๔๒ วรรคแรก แต่ถ้าหากพนักงานสอบสวนเห็นเหตุการณ์ในขณะอยู่ในที่เกิดเหตุนั้นด้วยตนเอง หรือได้รับแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษจากผู้เห็นเหตุการณ์ในขณะนั้นว่าผู้ขับขี่ได้ขับรถในขณะเมาสุราประกอบกับมีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าขณะนั้นผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นจริง พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ได้ทันทีเช่นกัน
               -  มาตรา ๑๔๒ แก้ไขใหม่ได้เพิ่มเติมวรรคสี่ อันเป็นบทสันนิษฐานโดยเด็ดขาด ในกรณีที่มีการสั่งให้มีการทดสอบแล้ว ผู้นั้นไม่ยอมให้ทดสอบ แม้ว่าจะมีการกักตัวไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่าที่จำเป็นแก่กรณีเพื่อการทดสอบแล้วก็ตาม
                  ซึ่งการทดสอบสามารถทำได้ ๓ วิธี คือ ตรวจวัดลมหายใจโดยวิธีเป่า ตรวจวัดจากปัสสาวะ และตรวจวัดจากเลือด ตามลำดับ โดยการตรวจวัดจากปัสสาวะและเลือดจะสามารถทำได้ต่อเมื่อไม่สามารถตรวจวัดจากลมหายใจได้เท่านั้น และการตรวจวัดจากเลือดจะต้องส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยทำการเจาะเลือดภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
                  ถ้าหากผู้นั้นไม่ยินยอมให้ทำการทดสอบดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ดังนี้ เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานสอบสวนก็สามารถดำเนินคดีผู้นั้นได้ตามกฎหมาย เสมือนเป็นผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ซึ่งศาลสามารถรับฟังคำให้การของเจ้าพนักงานตำรวจที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีได้เช่นเดียวกัน
              -  ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยไม่ยอมให้ทดสอบตามมาตรา ๑๔๒ วรรคสอง ย่อมมีโทษตามมาตรา ๑๕๔ (๓) อีกฐานหนึ่งด้วย คือ ต้องระวางโทษปรับครั้งละไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท

บทความที่เกี่ยวข้อง
ถ้าไม่ยอมให้ตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย
การเก็บเลือดและส่วนประกอบอื่นของร่างกาย
(Update: 04-sep-15)