วันพุธที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ข้อสันนิษฐาน ขับรถในขณะเมาสุรา (ถ้าไม่ยอมให้ทดสอบ)


              ให้เพิ่มเติม วรรคสาม ของมาตรา ๒๔  แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒  ดังนี้
              "การแสดงสัญญาณจราจรของพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรานี้ พนักงานเจ้าหน้าที่จะใช้ไฟฉายเรืองแสง หรืออุปกรณ์เรืองแสงอื่นด้วยก็ได้"

*ข้อพิจารณา บทบัญญัติเดิมของมาตรา ๒๔ เป็นเรื่องที่ผู้ขับขี่ต้องปฏิบัติตามสัญญาณจราจรที่พนักงานเจ้าหน้าที่แสดงให้ปรากฎข้างหน้า ซึ่งว่าด้วยเรื่องของสัญญาณมือ ส่วนกฎหมายที่เพิ่มเติมใหม่โดยให้พนักงานเจ้าหน้าที่ ใช้ไฟฉายเรืองแสงหรืออุปกรณ์เรืองแสงในเวลากลางคืน ประกอบสัญญาณมืออีกด้วย ก็ได้
----------------------------------
             ให้ยกเลิก มาตรา ๑๔๒ แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งเดิมบัญญัติว่า
             "เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถ ในเมื่อ
               (๑) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖
               (๒) เห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ
               ในกรณีที่เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่เห็นว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๑) หรือ (๒) ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่า หย่อนความสามารถในอันที่จะขับ หรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หรือไม่
               ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกักตัวผู้นั้นไว้ดำเนินการทดสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จำเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว และเมื่อผู้นั้นยอมให้ทดสอบแล้ว หากผลการทดสอบปรากฏว่าไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๑) หรือ (๒) ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
               การทดสอบตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"

               และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน มาตรา ๑๔๒
               "เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจสั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถ ในเมื่อ
               (๑) รถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๖
               (๒) เห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้น ได้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ
               ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๑) หรือ (๒) ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ดังกล่าวว่าหย่อนความสามารถในอันที่จะขับหรือเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นหรือไม่
               ในกรณีที่ผู้ขับขี่ตามวรรคสองไม่ยอมให้ทดสอบ ให้เจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกักตัวผู้นั้นไว้ดำเนินการทดสอบได้ภายในระยะเวลาเท่าที่จำเป็นแห่งกรณีเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว และเมื่อผู้นั้นยอมให้ทดสอบแล้ว หากผลการทดสอบปรากฏว่าไม่ได้ฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๑) หรือ (๒) ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
               ในกรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่า ผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น หากผู้นั้นยังไม่ยอมทดสอบตามวรรคสามโดยไม่มีเหตุอันสมควร ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นฝ่าฝืนมาตรา ๔๓ (๒)
               การทดสอบตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง"

*ข้อพิจารณา.-  กฎหมายใหม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมดังนี้  
               -  กฎหมายใช้คำว่า "กรณีที่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนฯ" แทนคำว่า "เมื่อเห็นว่าผู้ขับขี่หรือบุคคลใดในรถนั้นได้ฝ่าฝืนฯ" แสดงว่า เจ้าพนักงานสามารถใช้ดุลยพินิจที่จะสั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ได้ ถ้าปรากฏว่าผู้ขับขี่มีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าเป็นผู้ขับขี่และเมาสุราแล้วขับรถหรือหย่อนความสามารถ เจ้าพนักงานก็สามารถสั่งให้มีการทดสอบได้แล้ว ซึ่งกฎหมายเดิมเจ้าพนักงานต้องเห็นว่าผู้นั้นกำลังขับรถและขับในขณะหย่อนความสามารถในอันที่จะขับ หรือในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ตามมาตรา ๔๓ (๑) , (๒) จึงจะสั่งให้มีการทดสอบได้
               -  กรณีผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบ เจ้าพนักงานมีอำนาจกักตัวไว้เพื่อดำเนินการทดสอบได้ ระยะเวลากักตัวนั้นไม่กำหนดแน่ชัดว่ากี่ชั่วโมง แต่กฎหมายบัญญัติว่าได้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้การทดสอบเสร็จสิ้นไปโดยเร็ว ถ้ายอมให้ทดสอบแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีปริมาณแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด ก็ให้ปล่อยตัวไปทันที
               -  ตามมาตรา ๑๔๒ วรรคสอง ให้อำนาจพนักงานสอบสวนซึ่งปฏิบัติหน้าที่สอบสวนอยู่ในที่ทำการพนักงานสอบสวนสั่งให้มีการทดสอบได้ด้วย แม้ว่าพนักงานสอบสวนไม่ได้เป็นผู้สั่งให้หยุดรถตามมาตรา ๑๔๒ วรรคแรก แต่ถ้าหากพนักงานสอบสวนเห็นเหตุการณ์ในขณะอยู่ในที่เกิดเหตุนั้นด้วยตนเอง หรือได้รับแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษจากผู้เห็นเหตุการณ์ในขณะนั้นว่าผู้ขับขี่ได้ขับรถในขณะเมาสุราประกอบกับมีพฤติการณ์อันควรเชื่อว่าขณะนั้นผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นจริง พนักงานสอบสวนก็มีอำนาจสั่งให้มีการทดสอบผู้ขับขี่ได้ทันทีเช่นกัน
               -  มาตรา ๑๔๒ แก้ไขใหม่ได้เพิ่มเติมวรรคสี่ อันเป็นบทสันนิษฐานโดยเด็ดขาด ในกรณีที่มีการสั่งให้มีการทดสอบแล้ว ผู้นั้นไม่ยอมให้ทดสอบ แม้ว่าจะมีการกักตัวไว้ในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่าที่จำเป็นแก่กรณีเพื่อการทดสอบแล้วก็ตาม
                  ซึ่งการทดสอบสามารถทำได้ ๓ วิธี คือ ตรวจวัดลมหายใจโดยวิธีเป่า ตรวจวัดจากปัสสาวะ และตรวจวัดจากเลือด ตามลำดับ โดยการตรวจวัดจากปัสสาวะและเลือดจะสามารถทำได้ต่อเมื่อไม่สามารถตรวจวัดจากลมหายใจได้เท่านั้น และการตรวจวัดจากเลือดจะต้องส่งตัวผู้นั้นไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยทำการเจาะเลือดภายใต้การดูแลของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม
                  ถ้าหากผู้นั้นไม่ยินยอมให้ทำการทดสอบดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าวิธีใดก็ตาม โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร ดังนี้ เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานสอบสวนก็สามารถดำเนินคดีผู้นั้นได้ตามกฎหมาย เสมือนเป็นผู้ขับขี่ขับรถในขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่น ซึ่งศาลสามารถรับฟังคำให้การของเจ้าพนักงานตำรวจที่ได้ดำเนินการตามขั้นตอนดังกล่าวไว้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาพิพากษาคดีได้เช่นเดียวกัน
              -  ผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานจราจร พนักงานสอบสวน หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยไม่ยอมให้ทดสอบตามมาตรา ๑๔๒ วรรคสอง ย่อมมีโทษตามมาตรา ๑๕๔ (๓) อีกฐานหนึ่งด้วย คือ ต้องระวางโทษปรับครั้งละไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท

บทความที่เกี่ยวข้อง
ถ้าไม่ยอมให้ตรวจหาสารเสพติดในร่างกาย
การเก็บเลือดและส่วนประกอบอื่นของร่างกาย
(Update: 04-sep-15)

จับผิดด้วยกล้อง ให้ส่งใบสั่งทางไปรษณีย์


            ยกเลิก มาตรา ๑๔๐ วรรคหนึ่ง ซึ่งเดิมบัญญัติว่า
            "เมื่อเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบว่าผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ จะว่ากล่าวตักเตือนผู้ขับขี่ หรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบก็ได้ ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้ขับขี่ก็ให้ติดหรือผูกใบสั่งไว้ที่ผู้ขับขี่เห็นได้ง่าย"

            และให้ใช้  มาตรา ๑๔๐ วรรคหนึ่ง บัญญัติใหม่ว่า
            "เมื่อเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบด้วยตนเองหรือโดยการใช้เครื่องอุปกรณ์ใด ๆ ว่าผู้ขับขี่ผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้ หรือกฎหมายอื่นอันเกี่ยวกับรถนั้น ๆ จะว่ากล่าวตักเตือนผู้ขับขี่ หรือออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่ชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบก็ได้ ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้ขับขี่ให้ติดหรือผูกใบสั่งไว้ที่รถให้ผู้ขับขี่เห็นได้ง่ายและถ้าไม่สามารถติดหรือผูกใบสั่งไว้ที่รถไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้สั่งใบสั่งพร้อมพยานหลักฐานโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถภายในระยะเวลาตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด นับแต่วันที่เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบการกระทำความผิด และให้ถือว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งนั้นเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันส่ง"

* ข้อพิจารณา.-  กฎหมายที่แก้ไขใหม่ มีการเพิ่มเติมดังนี้
             - เพิ่มเติมคำว่า "พบด้วยตนเองหรือโดยการใช้เครื่องอุปกรณ์ใด ๆ"
                เห็นว่า เจ้าพนักงานต้องเป็นผู้ใช้อุปกรณ์ดังกล่าวด้วยตนเอง เช่น ใช้เครื่องตรวจจับความเร็ว กล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือกล้องถ่ายรูป เป็นต้น
             -  เพิ่มเติมคำว่า "และถ้าไม่สามารถติดหรือผูกใบสั่งไว้ที่รถไม่ว่าด้วยเหตุใด ให้สั่งใบสั่งพร้อมพยานหลักฐานโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถภายในระยะเวลาตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด นับแต่วันที่เจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่พบการกระทำความผิด และให้ถือว่าเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งนั้นเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันส่ง"
                ยกตัวอย่าง เมื่อรถขับผ่านกล้องโทรทัศน์วงจรปิด หรือเครื่องตรวจจับความเร็ว เจ้าพนักงานย่อมไม่สามารถผูกติดใบสั่งได้อย่างแน่นอน กฎหมายได้ให้อำนาจเจ้าพนักงานส่งใบสั่ง พร้อมรูปถ่ายรถที่ขับด้วยความเร็วเกินกำหนด หรือฝ่าฝืนสัญญาณไฟแดง ไปให้เจ้าของรถหรือผู้ครอบครอง โดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับเท่านั้น
                นับแต่วันที่เจ้าพนักงานพบการกระทำความผิด เจ้าพนักงานจะต้องส่งหลักฐานนั้นไปยังภูมิลำเนาของเจ้าของรถหรือผู้ครอบครองรถภายในระยะเวลาตามที่ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกำหนด เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันส่งใบสั่ง ให้ถือว่า เจ้าของหรือผู้ครอบครองได้รับใบสั่งแล้ว
              หลังจากเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถได้รับใบสั่งตามข้อสันนิษฐานข้างต้น แล้วอาจเลือกปฏิบัติโดยให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถไปชำระค่าปรับตามสถานที่ระบุในใบสั่งหรือชำระโดยการสั่งธนาณัติ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๑๔๑ แห่งพระราชบัญญัตินี้  ถ้าผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถไม่ปฏิบัติตามใบสั่ง พนักงานสอบสวนย่อมมีอำนาจตามมาตรา ๑๔๑ ทวิ กล่าวคือ ออกหมายเรียกให้มาพบเพื่อสอบสวนดำเนินคดีตามกฎหมาย และแจ้งเป็นหนังสือไปยังนายทะเบียนขนส่งทางบกให้งดรับชำระภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้นเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนว่าได้มีการปฏิบัติตามหมายเรียกนั้นแล้ว (ปัจจุบันมีการยกเลิกมาตรา ๑๔๑ ทวิ แล้ว)

บทความที่เกี่ยวข้อง 
การชำระค่าปรับตามใบสั่งของเจ้าพนักงานจราจร

(Update : 28/07/2560)

วันอังคารที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ชนแล้วหนีและไม่ช่วยเหลือจนผู้อื่นบาดเจ็บสาหัส

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๑๕๑๖/๒๕๔๙
ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘๕ วรรคหนึ่ง , ๑๙๕ วรรคสาม, ๒๒๕
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๖๐
             โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยขับรถด้วยความเร็วสูงฝ่าฝืนสัญญาณจราจรไฟสีแดงผ่านทางร่วมทางแยกเป็นเหตุให้พุ่งเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้เสียหายที่ ๑ ขับ ทำให้ผู้เสียหายที่ ๑ ได้รับบาดเจ็บบริเวณใบหน้า กระดูกเบ้าตาแตกยุบ ลูกนัยน์ตาทั้งสองข้างชอกช้ำมาก สูญเสียลูกนัยน์ตาซ้ายอย่างถาวร (ตาบอด) อันเป็นอันตรายสาหัส และภายหลังที่จำเลยกระทำความผิดดังกล่าว จำเลยไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควร ไม่ไปแสดงตัวและแจ้งเหตุต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ใกล้เคียงทันที เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส
             ดังนี้ คำบรรยายฟ้องดังกล่าวยังไม่อาจรับฟังว่า การหลบหนีของจำเลยเป็นเหตุให้ผู้เสียหายที่ ๑ ได้รับอันตรายสาหัส เนื่องจากผู้เสียหายที่ ๑ ต้องได้รับอันตรายสาหัสโดยสูญเสียลูกนัยน์ตาตั้งแต่ขณะถูกรถชนแล้ว การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่นแล้วไม่หยุดรถให้ความช่วยเหลือตามสมควรฯ เป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัส ตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๑๖๐ วรรคสอง แต่เป็นเพียงการขับรถในทางซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายเป็นเหตุให้บุคคลอื่นได้รับอันตรายสาหัสแล้วจำเลยไม่ปฏิบัติตามมาตรา ๗๘ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นความผิดตามมาตรา ๑๖๐ วรรคหนึ่ง เท่านั้น
             ที่ศาลล่างทั้งสองลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๗๘ และมาตรา ๔๓ (๘) โดยไม่ระบุวรรคและไม่ปรับบทลงโทษมาตรา ๑๖๐ วรรคสาม ด้วยนั้น ไม่ถูกต้อง ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕ พิพากษาแก้เป็นว่า เฉพาะความผิดตาม พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ จำเลยมีความผิดตามมาตรา ๔๓ (๔) (๘), ๗๘ วรรคหนึ่ง, ๑๕๗, ๑๖๐ วรรคหนึ่งและวรรคสาม

วันศุกร์ที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2557

วิธีทำแผนที่แสดงสัญญาณไฟจราจร

               เมื่อมีอุบัติเหตุรถชนกันขึ้นบริเวณทางร่วมทางแยก พนักงานสอบสวนจะจัดทำแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุขึ้นฉบับหนึ่ง ประกอบไปด้วย รูปวาดช่องทางเดินรถ เครื่องหมายบนพื้นทาง ป้ายจราจร รูปวาดตำแหน่งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ศพผู้ตาย ร่องรอยบนพื้นถนน รอยครูด รอยยางรถ ทิศทางการเดินรถ ทิศทางการขับรถของคู่กรณี ระยะห่างของรถคู่กรณี ระยะห่างจากขอบทาง ระยะห่างจากจุดสำคัญต่าง ๆ ตลอดจนอาคารบ้านเรือน ต้นไม้ หลักกั้นทางโค้ง ฯลฯ วาดเขียนลงในแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุดังกล่าว
              แต่กรณีที่เกิดเหตุเป็นทางร่วมทางแยกที่มีสัญญาณไฟจราจร การวินิจฉัยคดีจึงต้องถือสัญญาณจราจรเป็นหลัก จะนำหลักของทางเอกทางโทมาใช้วินิจฉัยย่อมไม่ได้  เมื่อสอบถามคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างอ้างว่า ฝ่ายตนได้รับสัณญาณจราจรไฟสีเขียวด้วยกันทั้งคู่ ประกอบกับทางแยกที่เกิดเหตุไม่มีกล้องโทรทัศน์วงจรปิดมาเปิดให้ดูย้อนหลังว่าฝ่ายใดฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรด้วยแล้ว การวินิจฉัยคดีเบื้องต้นย่อมจะพิจารณาได้ค่อนข้างลำบากว่าฝ่ายใดที่ให้การเท็จหรือไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง
              ดังนั้น จึงมีข้อแนะนำแก่พนักงานสอบสวนที่ทำหน้าที่วินิจฉัยคดีว่าฝ่ายใดพูดความจริงมากกว่ากัน โดยต้องเดินทางไปตรวจดูการเปิด-ปิดสัญญาณจราจรไฟสีต่าง ๆ ทุกด้านของทางร่วมทางแยกนั้น แล้ววาดเขียนแผนที่สัญญาณไฟจราจรขึ้นมาอีกฉบับหนึ่งสำหรับประกอบแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุที่จัดทำขึ้นตามปกติข้างต้น รวมเข้าไว้ในสำนวนการสอบสวนด้วย
              แผนที่แสดงสัญญาณไฟจราจร นี้จะแสดงให้เห็นว่า ในทางร่วมทางแยกมีการให้สัญญาณแก่รถในทางแต่ละด้านเคลื่อนผ่านทางร่วมทางแยก ก่อน-หลัง เรียงตามลำดับกันอย่างไร  เพราะทางแยกบางแห่งมีการให้สัญญาณรถตรงไป หรือเลี้ยวรถแตกต่างกันกับอีกแห่งหนึ่งตามความประสงค์ของนักวิศวกรรมจราจรที่ท่านเห็นว่าเหมาะสม (ซึ่งบางแห่งก็ไม่เหมาะสมเพราะทำให้รถเกิดอุบัติเหตุชนกันบ่อย ซึ่งผู้เขียนเคยทำหนังสือนำเรียนไปยังแขวงการทางจังหวัดให้ปรับเปลี่ยนการเปิดสัญญาณไฟจราจรของทางแยกบางแห่งมาแล้ว ซึ่งหลังจากปรับเปลี่ยนการเปิดสัญญาณไฟแบบใหม่ปรากฏว่าอุบัติเหตุลดลงได้จริง) ยกตัวอย่างเช่น บางแห่งให้สัญญาณรถเคลื่อนไปทีละด้านจนครบทุกด้าน บางแห่งก็ให้สัญญาณรถขับตรงไปในลักษณะสวนกันก่อนแล้วค่อยให้สัญญาณเลี้ยวรถในภายหลัง ก็มี
              นอกจากนี้ การระบุระยะเวลาของการให้สัญญาณไฟสีเขียว สีเหลือง สีแดง ซึ่งเรียงตามลำดับแก่ทางเดินรถแต่ละด้านว่าใช้เวลากี่วินาที จะทำให้รู้ว่า ทางเดินรถแต่ละด้านมีช่วงเวลาเดินรถจำกัดเพียงใด เพราะบางครั้ง ทางเดินรถแต่ละด้านจะมีระยะเวลาการเดินรถผ่านทางร่วมทางแยกไปไม่เท่ากัน เราจะพบว่าเส้นทางสายหลักที่มีปริมาณรถจำนวนมาก สัญญาณจราจรไฟสีเขียวจะมีเวลาเดินรถมากกว่าเส้นทางสายรองที่มีปริมาณรถน้อยกว่า เป็นต้น
             การสังเกตระยะเวลาและทิศทางปรับเปลี่ยนของสัญญาณจราจรไฟสีต่างๆ ในแต่ละด้าน จะทำให้เราทราบว่า ขณะเกิดเหตุรถในช่องทางใด หยุดรอสัญญาณจราจรไฟสีแดงบ้าง ในขณะที่อีกช่องทางหนึ่งได้รับสัญญาณไฟสีเขียวให้เคลื่อนผ่านทางร่วมทางแยกไปได้ เมื่อพิจารณาประกอบกับแผนที่สังเขปแสดงสถานที่เกิดเหตุที่ทำไว้เป็นฉบับที่มีจุดชน รอยชน รอยครูด หรือรอยยางแล้ว ทำให้รู้ได้ว่า รถคันไหนน่าจะฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจรสีแดง คู่กรณีฝ่ายใดน่าจะให้การตามความเป็นจริง ฝ่ายใดให้การเท็จ ซึ่งจะทำให้พนักงานสอบสวนสามารถซักถามตามความเป็นจริง และง่ายต่อการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายเสียเปรียบหรือเป็นฝ่ายก่อให้เกิดอุบัติเหตุขึ้น

วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ค่าเสียหายกรณีต่างฝ่ายต่างประมาท

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓๙๑/๒๕๕๑
ป.พ.พ. มาตรา ๒๒๓ , ๔๓๘, ๔๔๒
ป.วิ.อ. มาตรา ๔๖ , ๔๗
              จำเลยขับรถยนต์โดยประมาทเลี้ยวขวาอย่างรวดเร็ว โดยไม่ดูให้ปลอดภัยและไม่ให้สัญญาณใด ในขณะที่โจทก์ขับรถจักรยานยนต์เบียดแซงขึ้นมาโดยไม่ให้สัญญาณใดๆ ทำให้เฉี่ยวชนกันเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับบาดเจ็บกระดูกสะบ้าด้านขวาและกระดูกหน้าแข้งขวาหักต้องรักษาโดยการผ่าตัด รถจักรยานยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์และจำเลยต่างถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้นว่าขับรถด้วยความประมาท โจทก์และจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษทั้งโจทก์และจำเลยแล้ว
              ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๖ ปรากฏว่า ข้อเท็จจริงที่ฟังยุติในคดีส่วนอาญามีแต่เพียงว่าทั้งโจทก์และจำเลยต่างกระทำโดยประมาท แต่ผู้ใดประมาทมากกว่ากันไม่ปรากฏ
              ดังนั้น ในการดำเนินคดีแพ่ง ทั้งโจทก์และจำเลยย่อมสามารถนำสืบให้เห็นได้ว่า ใครประมาทมากกว่ากัน และควรจะได้รับชดใช้ค่าเสียหายจากอีกฝ่ายหนึ่ง หรือไม่ เพียงใด เพราะคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดหรือไม่ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๗ วรรคหนึ่ง
              บทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่ง ในกรณีต่างฝ่ายต่างประมาททำให้เกิดเป็นมูลหนี้ละเมิดขึ้นนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๔๔๒ วางหลักไว้ให้นำบทบัญญัติแห่งมาตรา ๒๒๓ มาใช้บังคับโดยอนุโลม ซึ่งมาตรา ๒๒๓ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ถ้าฝ่ายผู้เสียหายได้มีส่วนทำความผิดอย่างใดอย่างหนึ่งก่อให้เกิดความเสียหายด้วยไซร้ ท่านว่าหนี้อันจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ฝ่ายผู้เสียหายมากน้อยเพียงใดนั้น ต้องอาศัยพฤติการณ์เป็นประมาณ" ข้อสำคัญก็คือว่า ความเสียหายนั้นได้เกิดขึ้นเพราะฝ่ายไหนเป็นผู้ก่อยิ่งหย่อนกว่ากันเพียงไร และมาตรา ๔๓๘ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ค่าสินไหมทดแทนจะพึงใช้โดยสถานใดเพียงใดนั้นให้ศาลวินิจฉัยตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด"
               ดังนั้น การที่จะสามารถเรียกร้องค่าเสียหายจากจำเลยได้ จำเป็นที่โจทก์ต้องพิสูจน์ว่าฝ่ายจำเลยประมาทมากกว่า และโจทก์เสียหายจากการประมาทมากกว่า นั้นอย่างไร เพียงใด
               ศาลชั้นต้นจึงเป็นศาลในคดีส่วนแพ่งมีอำนาจวินิจฉัยว่าโจทก์จำเลยใครเป็นฝ่ายประมาทมากกว่ากัน ไม่ขัดต่อคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยประมาทมากกว่า และเปรียบเทียบความร้ายแรงแห่งละเมิดที่โจทก์จำเลยต่างก่อขึ้นแล้วกำหนดค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงินรวม ๒๙,๕๐๐ บาท เป็นการดำเนินการตามอำนาจที่มีอยู่โดยชอบด้วยบทบัญญัติของกฎหมายแล้ว
                ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยต่อไปว่า ตามพยานหลักฐานโจทก์และจำเลยมีความประมาทไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น เป็นการก้าวล่วงเข้าไปวินิจฉัยในปัญหาข้อเท็จจริงในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลชั้นต้น ซึ่งได้ยุติไปแล้ว เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์เพื่อให้ได้รับค่าเสียหายมากขึ้น ทุนทรัพย์จำนวนดังกล่าวจึงเป็นทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์ที่ห้ามมิให้คู่ความอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง

วันอังคารที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

รัฐเป็นผู้เสียหายในคดีจราจรทางบก

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๖๒๓๕/๒๕๕๑
ป.พ.พ. มาตรา ๘
ป.วิ.อ. มาตรา  ๔๖
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ , ๑๕๗
                การที่จะถือเอาข้อเท็จจริงในคำพิพากษาคดีส่วนอาญามาพิพากษาในคดีส่วนแพ่งได้นั้นจะต้องเป็นคดีที่มีมูลกรณีเดียวกันและเป็นคู่ความเดียวกัน ซึ่งในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ คู่ความในคดีส่วนแพ่งก็จะต้องเป็นผู้เสียหายในคดีอาญานั้นด้วย สำหรับคดีอาญาของศาลแขวงสงขลานั้น จำเลยที่ ๑ เคยถูกพนักงานอัยการประจำศาลแขวงสงขลาเป็นโจทก์ฟ้องเป็นคดีอาญาในความผิดฐานขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นได้รับความเสียหายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓, ๑๕๗ ซึ่งความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวรัฐเท่านั้นเป็นผู้เสียหาย โจทก์ในคดีนี้ไม่ใช่ผู้เสียหายในคดีอาญาของศาลแขวงสงขลา เมื่อโจทก์ไม่ได้เป็นผู้เสียหายหรือคู่ความในคดีอาญาของศาลแขวงสงขลา ข้อเท็จจริงที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาของศาลแขวงสงขลาจึงไม่ผูกพันโจทก์ในคดีนี้ การพิพากษาคดีส่วนแพ่งในคดีนี้ศาลไม่จำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา
              เหตุสุดวิสัยจะต้องเป็นเรื่องที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้จะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้วก็ตาม เหตุที่รถยนต์บรรทุกที่จำเลยที่ ๑ ขับชนรถยนต์คันที่เอาประกันภัยกับโจทก์ไว้นั้น เป็นเพราะลูกปืนล้อรถพ่วงด้านขวาแตกเป็นเหตุให้ล้อรถพ่วงด้านนั้นหลุด รถจึงเสียการทรงตัว ซึ่งอุปกรณ์ต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นตัวรถย่อมมีทั้งที่อยู่ภายนอกและภายใน อุปกรณ์บางชิ้นตรวจสอบได้ด้วยสายตา บางชิ้นเสื่อมสลายไปตามสภาพการใช้งาน ซึ่งล้วนแต่ต้องตรวจตราจากผู้ใช้งานทั้งสิ้นไม่ว่าจะตรวจสอบเองในฐานะที่เป็นผู้ควบคุมยานพาหนะหรือโดยผู้อื่นที่มีหน้าที่ก็ตาม จำเลยที่ ๑ จะอ้างว่าลูกปืนล้อรถเป็นอุปกรณ์ที่อยู่ภายใน ไม่ใช่หน้าที่ตรวจสอบของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเพียงผู้ขับเท่านั้นไม่ได้ กรณียังถือไม่ได้เหตุดังกล่าวเกิดจากเหตุสุดวิสัย

การเปรียบเทียบปรับที่ไม่ชอบ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๕๙๔๒/๒๕๔๘
ป.อ. มาตรา  ๙๐
ป.วิ.อ. มาตรา ๓๗
                จำเลยขับรถยนต์โดยประมาท ชนท้ายรถยนต์คันที่ผู้เสียหายเป็นผู้ขับอยู่ข้างหน้าในช่องทางเดียวกัน เป็นเหตุให้รถยนต์ของผู้เสียหายได้รับความเสียหายและผู้เสียหายรับอันตรายแก่กาย พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหาย จำเลยให้การรับสารภาพ พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยในความผิดข้อหาดังกล่าวโดยผู้เสียหายและจำเลยยินยอม
                การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔), ๑๕๗ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่สี่ร้อยบาทถึงหนึ่งพันบาท และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แต่เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ต้องใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐
                พนักงานสอบสวนจึงไม่มีอำนาจเปรียบเทียบจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของผู้อื่นเสียหายตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔), ๑๕๗ ซึ่งเป็นความผิดที่มีโทษเบากว่าความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ เพื่อให้ความผิดทั้งหมดรวมทั้งความผิดที่มีโทษหนักกว่าเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๗ ได้
                แม้พนักงานสอบสวนเปรียบเทียบปรับจำเลยไปแล้วในความผิดฐานดังกล่าวโดยความยินยอมของผู้เสียหาย เพราะผู้เสียหายมิได้แจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่จำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๐ ด้วย ก็ตาม การเปรียบเทียบปรับย่อมไม่ชอบ คดีอาญาไม่เลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๗ ศาลอุทธรณ์จึงมีอำนาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้เสียหายรับอันตรายแก่กายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 390 ได้

จอดรถข้างทางในที่มืด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  ๓๒๘๔/๒๕๕๒
ป.อ. มาตรา ๒๙๑ , ๓๐๐ , ๓๙๐
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔) , ๖๑ , ๑๕๗
                รถยนต์บรรทุกพ่วงของจำเลยจอดล้ำเข้ามาในช่องทางเดินรถช่องซ้ายโดยไม่มีการให้สัญญาณใด ๆ ในขณะที่ที่เกิดเหตุมืด จึงเป็นการประมาทในลักษณะการงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลเช่นนั้น แต่จำเลยมิได้กระทำ คือ การไม่เปิดสัญญาณไฟกระพริบหรือให้สัญญาณอื่นใด จึงฟังได้ว่าจำเลยมีส่วนร่วมกระทำโดยประมาทด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยว่าที่เกิดเหตุมีแสงสว่างสามารถมองเห็นได้ในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร จำเลยจึงไม่ต้องเปิดสัญญาณไฟหรือใช้แสงสว่างตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๖๑ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย เพราะแสงสว่างในที่เกิดเหตุตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยว่าเห็นได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า ๑๕๐ เมตร จำเลยมิได้นำสืบให้ชัดเจน มีแต่ตัวจำเลยคนเดียวเบิกความลอย ๆ ส่วนบรรดาหลอดไฟที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ยกมาวินิจฉัยก็ไม่มีการนำสืบให้เชื่อได้ว่าขณะเกิดเหตุได้เปิดอยู่ทุกดวงหรือไม่ และระยะทางของดวงไฟอยู่ห่างที่เกิดเหตุในลักษณะจะให้แสงสว่างได้ขนาดนั้น จึงเป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ คาดหมายเอาเท่านั้น อีกทั้งขัดแย้งกับความสมด้วยเหตุผลดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสองฟังขึ้น
               เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เหตุที่นายคำมูลขับรถยนต์บรรทุกหกล้อพุ่งเข้าชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงคันที่จำเลยขับ ซึ่งจอดอยู่ริมถนนมิตรภาพ จนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ได้รับอันตรายสาหัส และได้รับอันตรายแก่กาย เกิดจากความประมาทปราศจากความระมัดระวังของจำเลยที่ไม่เปิดไฟหรือใช้แสงสว่างของรถให้นายคำมูลซึ่งขับรถยนต์บรรทุกหกล้อมาทางด้านหลัง สามารถมองเห็นรถยนต์บรรทุกพ่วงคันที่จำเลยจอดไว้ในระยะห่างเพียงพอที่นายคำมูลจะหยุดรถหรือหลบหลีกไปได้ การที่นายคำมูลขับรถยนต์บรรทุกหกล้อชนท้ายรถยนต์บรรทุกพ่วงดังกล่าวจึงเป็นผลโดยตรงที่เกิดจากความประมาทของจำเลย ที่งดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้น หาใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถของจำเลยไม่ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๔) , ๑๕๗ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกาก็ยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

*ข้อพิจารณา.- จอดรถในที่มืดไม่ใช่ผลที่เกิดขึ้นโดยตรงจากการขับรถ จึงมีความผิดฐานขับรถโดยประมาทตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ แต่เป็นความผิดฐานกระทำโดยประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา)

วันพุธที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2557

ก่อสร้างถนนไม่ติดตั้งสัญญาณไฟ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๔๒๐๒/๒๕๕๕
ป.พ.พ. ละเมิด ประกันภัย รับช่วงสิทธิ (มาตรา ๒๐๖, ๒๒๔, ๒๒๖, ๔๒๐)
             โจทก์เป็นผู้รับประกันภัยค้ำจุนรถยนต์ยี่ห้อเบนซ์ ไว้จากนาง ธ. จำเลยที่ ๑ เป็นผู้รับเหมาก่อสร้างถนนกาญจนาภิเษกระหว่างแยกทศกัณฐ์ถึงแยกสะพานต่างระดับฉิมพลีจากจำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการและเป็นผู้ว่าจ้างก่อสร้างถนนดังกล่าว
             จำเลยที่ ๑ ไม่ติดตั้งอุปกรณ์ส่องสว่าง เครื่องหมาย หรือสัญญาณเพื่อให้ผู้ขับขี่รถในเวลากลางคืนมีโอกาสมองเห็นถนนที่ยังก่อสร้างไม่เสร็จ เป็นเหตุให้นางสาว อ. ขับรถชนแท่งเหล็กที่จำเลยที่ ๑ วางไว้ ทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย
              สำหรับจำเลยที่ ๒ มีหน้าที่ควบคุมดูแลจำเลยที่ ๑ ในการจัดให้มีสัญญาณเตือนภัยและควบคุมการก่อสร้าง แต่ละเลยไม่ควบคุมให้จำเลยที่ ๑ ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ ๒ ด้วย
             แม้สัญญาจ้างเหมาก่อสร้างกำหนดให้จำเลยที่ ๑ รับผิดชอบในการเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องภายในระหว่างจำเลยทั้งสอง จำเลยที่ ๒ ต้องร่วมกับจำเลยที่ ๑ รับผิดในผลละเมิดดังกล่าว
             ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๐๖ บัญญัติว่า หนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด คดีนี้โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่โจทก์ชำระเงินค่าซ่อมรถครั้งสุดท้าย

คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ.๓๕๙/๒๕๕๕
ป.พ.พ. ละเมิด ประกันภัย รับช่วงสิทธิ (มาตรา ๔๒๐, ๘๘๐)
พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ (มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓))
             คดีพิพาทเกี่ยวกับกระทำละเมิดของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ตามกฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง
             ถนนบริเวณที่เกิดเหตุเป็นเขตทางหลวงแผ่นดิน มีฝาท่อระบายน้ำเปิดออกโดยไม่ทราบสาเหตุ แม้ขณะเกิดเหตุกรมทางหลวงชนบท (กรมโยธาธิการเดิม) จะยังไม่ได้ส่งมอบพื้นที่ในเขตทางหลวงคืนให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ถูกฟ้องคดีก็ยังคงมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องตรวจตรา ดูแลรักษาถนนดังกล่าวให้อยู่ในสภาพเรียบร้อยใช้งานได้อย่างปลอดภัย แต่ปรากฏว่าบริเวณดังกล่าวไม่มีไฟส่องสว่างและไม่มีสัญญาณหรือเครื่องหมายใด ๆ ที่แจ้งเตือนในระยะห่างพอสมควรซึ่งจะทำให้ผู้ขับรถทราบว่ามีฝาท่อระบายน้ำถูกเปิดออก
             การที่นาง ก. ขับรถผ่านบริเวณดังกล่าว และล้อรถด้านซ้ายตกท่อระบายน้ำที่ถูกเปิดฝาออก ทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย จึงรับฟังไม่ได้ว่าผู้ถูกฟ้องคดีได้ปฏิบัติหน้าที่ในการบำรุงรักษาทางหลวงและติดตั้งเครื่องหมายจราจรหรือเครื่องหมายสัญญาณเตือนความปลอดภัยในการขับขี่อย่างเพียงพอ ความเสียหายดังกล่าวเกิดจากการละเลยต่อหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี
             การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการละเมิดต่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองรถ ผู้ถูกฟ้องคดีต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นผู้รับช่วงสิทธิเรียกร้องให้ผู้ถูกฟ้องคดีรับผิดและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน
            แม้ผู้ถูกฟ้องคดีจะได้ส่งมอบพื้นที่ทางหลวงไปให้กรมโยธาธิการ ซึ่งต่อมากรมโยธาธิการได้มอบพื้นที่และโอนงานให้กรมทางหลวงชนบทก็ตาม ก็เป็นเรื่องการดำเนินการภายในระหว่างหน่วยงานด้วยกัน ไม่อาจนำมาใช้ยันบุคคลภายนอกได้ คงมีสิทธิไล่เบี้ยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อตกลง กรณีความรับผิดที่เกิดขึ้นในคดีนี้ ไม่เป็นเหตุให้อำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดีสิ้นสุดลงหรือหลุดพ้นไปแต่อย่างใด

วันอังคารที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

รถออกจากข้างทางมาชนกัน

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ ๙๑๑๗/๒๕๕๔
ป.อ.  ขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (มาตรา ๒๙๑)
              จําเลยขับรถยนต์บรรทุก ๑๐ ล้อ มาในช่องเดินรถของตน และผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ออกจากร้านค้าซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามเข้ามาในช่องเดินรถของจําเลย
              เมื่อพิจารณาแผนที่กับภาพถ่ายปรากฏว่าบริเวณที่เกิดเหตุ มีร่องรอยการห้ามล้อของรถยนต์ที่จําเลยขับเป็นแนวเบี่ยงไปทางซ้ายโดยรอยห้ามล้อดังกล่าวยาวประมาณ ๑๐ เมตร
              สอดคล้องกับที่จำเลยเบิกความว่า ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ออกจากร้านค้าพุ่งเข้ามาในช่องเดินรถของจําเลยแล้วชนถังน้ำมันด้านขวาของรถยนต์ที่จำเลยขับล้มลง ล้อหลังด้านขวาจึงทับผู้ตาย นับแต่เห็นผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ส่ายไปมา จำเลยได้ห้ามล้อรถและหักพวงมาลัย ไปทางซ้าย จนล้อรถเบียดขอบทางเท้า
              จึงน่าเชื่อว่า จําเลยเห็นผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ออกจากร้านค้าในระยะประมาณ ๑๐ เมตร อันเป็นระยะที่กระชั้นชิด ตามวิสัยและพฤติการณ์ของขับรถยนต์บรรทุกสิบล้อมาในช่องทางตรง ย่อมเป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงการเฉี่ยวชนได้ การที่จำเลยห้ามล้อและหักหลบรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายขับเข้ามาชนรถยนต์ที่จําเลยขับทางด้านข้างนั้น นับว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่พฤติการณ์
              การที่ผู้ตายขับรถจักรยานยนต์ออกจากร้านค้าซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามเข้ามาเฉี่ยวชนกับรถยนต์ที่จําเลยขับและรถจักรยานยนต์เสียหลักล้มลงเข้าใต้รถยนต์บรรทุก ๑๐ ล้อ จึงถูกทับถึงแก่ความตาย มิใช่การกระทําโดยประมาทของจําเลย

ริบรถที่ขับโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยผู้อื่น

คําพิพากษาศาลฎีกาที่ 6733/2554                                                    
ป.อ.  ขอคืนของกลาง (มาตรา 36)
              คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจําเลยสามสิบเก้าคน ตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔๓ (๘), ๑๖๐ วรรคสาม, ๑๖๒ และริบรถยนต์ของกลาง
              แม้ผู้ร้องให้จําเลยที่ ๓๕ ซึ่งเป็นญาติยืมรถยนต์ของกลางไปอันเป็นเรื่องปกติวิสัยของญาติที่จะเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกันก็ตาม แต่ก็ได้ความจากผู้ร้องและจำเลยที่ ๓๕ ว่าจําเลยที่ ๓๕ เคยยืมรถยนต์ของกลางไปใช้เป็นประจํา และผู้ร้องเบิกความตอบคำถามค้านว่า วันเกิดเหตุจําเลยที่ ๓๕ ไม่ได้บอกว่าจะนํารถยนต์ของกลางมาคืนเมื่อใด ประกอบกับตามบันทึกการจับกุมระบุว่า เหตุคดีนี้เกิดเมื่อวันที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๒ เวลา ๑ นาฬิกา
              จึงพออนุมานได้ว่า ผู้ร้องมิได้เข้มงวดในการใช้รถยนต์ของกลางที่จําเลยที่ ๓๕ ยืมไปเท่าใดนัก พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้ร้องอนุญาตโดยปริยายให้จําเลยที่ ๓๕ นํารถยนต์ของกลางไปใช้ได้ทุกสถานที่โดยไม่ขัดขวาง ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ ๓๕ นํารถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทําความผิดเกี่ยวกับการขับรถโดยไม่คํานึงความเดือดร้อนของผู้อื่น ย่อมถือได้ว่า ผู้ร้องมีส่วนรู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทําความผิดของจําเลยที่ ๓๕